ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ
วันที่ 7 มี.ค. 2562 เวลา 15.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ทั้งนี้มีแกนนำพรรค ทษช. กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย
โดยในท้ายที่สุดวันนี้ศาลมีวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติเนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน และทางพรรคทราบดีว่าทูลกระหม่อมฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล
ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบทุกการตัดสินใจ หากพรรคใดมีการกระทำเป็นปฏิปักษ์ถึงจะไม่มีเจตนาล้มล้างก็เข้าลักษณะเข้าข่าย โดยจะต้องถูกลงโทษ อ้างความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้
ทั้งนี้ การเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิดมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค และห้ามไม่ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่พรรคไทยรักษาชาติ ได้การเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโองการให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ยุติบทบาท เนื่องจากพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง
จากนั้น กกต. จึงเห็นว่า ทษช. มีความผิดตามมาตรา 92 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยยุบพรรค ในเวลาต่อมาศาลได้พิจารณารับคำร้องดังกล่าวและมีการนัดพิจารณาในครั้งต่อไป
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้นศาลธรรมนูญจึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในวันนี้ (7 มี.ค.2562)