การฆ่าตัวตาย อาการโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์

รู้จัก ป้องกันได้ ภัยเงียบอันตราย ที่ชื่อ ‘โรคซึมเศร้า’

ถือว่าเป็นข่าวที่สะเทือนใจมาก กับกรณีนักศึกษากระโดดตึกของมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา และที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือเป็นนักศึกษารายที่ 5 ในระยะเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีอาการป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า‘ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนอาจกำลังประสบปัญหาอยู่และอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยอยู่เช่นกัน…

Home / NEWS / รู้จัก ป้องกันได้ ภัยเงียบอันตราย ที่ชื่อ ‘โรคซึมเศร้า’

ถือว่าเป็นข่าวที่สะเทือนใจมาก กับกรณีนักศึกษากระโดดตึกของมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา และที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือเป็นนักศึกษารายที่ 5 ในระยะเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีอาการป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า‘ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนอาจกำลังประสบปัญหาอยู่และอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยอยู่เช่นกัน

วันนี้ MThaiNews ขอพาผู้อ่านทุกท่านมาดูว่า ‘โรคซึมเศร้า’ มันโรคคืออะไร มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน และประเทศไทยมีคนป่วยเท่าไหร่ ซึ่งโรคดังกล่าวถือว่าเป็นภัยเงียบที่พรากชีวิตคนไปไม่น้อย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

‘โรคซึมเศร้า’ คืออะไร?

‘โรคซึมเศร้า’ เป็นโรคทางจิตเวช สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งความผิดปกติทางอารมณ์ และเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญของประเทศไทย เป็นคนที่มีอาการเศร้าอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าไม่มีความสุขไม่อยากทำอะไร มีอาการทางกาย เช่น

นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีความคิดไปทางลบ ซึ่งภาวะทางอารมณ์ดังกล่าวหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และผู้ป่วยอาจถึงขึ้นหาวิธีเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน

อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร?

1.มีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด โกรธง่าย
2.หมดความสนใจ หรือ ความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
3.นอนไม่หลับ หรือ นอหลับมากขึ้น
4.รู้สึกอ่อนเพลีย
5.เบื่ออาหาร หรือ ทานอาหารมากขึ้น
6.รู้สึกไร้ค่า ตำหนิตัวเอง
7.ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ
8.พูดช้า ทำอะไรช้าลง
9.มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือ มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง

***หากผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาในข้างต้น และเป็นติดต่อกัน 2 สัปดาห์ มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์ในทันทีและเข้ารับการรักษาต่อไป***

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว คือ ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว (แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง และโรคซึมเศร้าเรื้อรัง)

โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือ ที่เรียกว่า ‘ไบโพลาร์‘ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์ขึ้นลงมากกว่าคนทั่วไปจนเกิดผลเสีย โดยมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีผิดปกติ กับช่วงภาวะซึมเศร้า หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้กลายเป็นโรคจิตเภทได้

สาเหตุของ ‘โรคซึมเศร้า’

โรคซึมเศร้าไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งคาดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ รวมถึงการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล

สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิดรอบข้าง

การเผชิญเรื่องเครียด เช่น ปัญหาชีวิตทั้งเรื่องการงาน ครอบครัว ปัญหาสุขภาพ

การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด การพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อให้ลืมความเสียใจและความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

แนวทางการรักษา

การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและยิ่งมารับการรักษาเร็วเท่าไรอาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่ถือว่าปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ผู้ป่วยบางคนกลัวผลข้างเคียงจนไม่กล้ากินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ เพราะกลัวว่าจะติดยาหรือกลัวว่ายาทำให้มีอาการมึนงงไปหมด ความจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยาและไม่ทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่เข้าใจกัน

วิธีการป้องกัน

การป้องกันโรคซึมเศร้าทำได้โดยปฏิบัติหลักสุขศึกษา คือ

อาหาร ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ หากขาดสารอาหารบางอย่างไปจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เช่น โอเมก้า 3 วิตามิน อี ซี ดี ทองแดง ธาตุเหล็ก

การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 30-40 นาที เป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็วก็ได้

การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องกาย ให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงหรือยังเพลียอยู่

การทำสมาธิ (Mindfulness) เพื่อผ่อนคลายจิตใจ มีงานวิจัยมากมายพบว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้

การฝึกคิดบวก ป้อนความคิดทางบวกให้กับตัวเองอยู่เสมอเพื่อสร้างให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้

นอกจากการปฏิบัติตามข้างต้นแล้ว การปรึกษาจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาได้ หากคิดว่าตัวเองกำลังเผชิญภาวะดังกล่าวอยู่ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยของเราก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตเวชกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลและสถาบันต่างๆ ดังนี้

รายชื่อโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ ในเขตกรุงเทพฯ

โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ สังกัดรัฐ

– สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน
– รพ.ศิริราช เขตบางกอกน้อย
– รพ.จุฬาลงกรณ์ เขตปทุมวัน
– รพ.ตำรวจ เขตปทุมวัน

– รพ.รามาธิบดี เขตราชเทวี
– รพ.พระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวี
– รพ.ราชวิถี เขตราชเทวี
– สถาบันประสาทวิทยา เขตราชเทวี

– สถาบันสุขภาพจิตเด็กราชนครินทร์ (ตรงข้ามรพ.รามา) เขตราชเทวี
– สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เขตราชเทวี
– สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เขตทวีวัฒนา

– รพ.ราชานุกูล เขตดินแดง
– รพ.วชิรพยาบาล เขตดุสิต
– รพ.กลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
– รพ.นพรัตนราชธานี เขตคันนายาว
– รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ เขตบางคอแหลม

– รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ เขตหนองจอก
– รพ.สิรินธร เขตประเวศ
– รพ.ทหารผ่านศึก เขตพญาไท
– รพ.ทหารเรือกรุงเทพ พร. เขตบางนา
– รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ. เขตสายไหม
– รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้ากรมแพทย์ทหารเรือ เขตธนบุรี

โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ สังกัดเอกชน

– รพ.กรุงเทพ เขตห้วยขวาง
– รพ.พระรามเก้า เขตห้วยขวาง

– รพ.บางนา เขตบางนา
– รพ.มนารมย์ เขตบางนา
– รพ.บำรุงราษฎร์ เขตวัฒนา
– รพ.คามิลเลียน เขตวัฒนา
– รพ.สมิติเวชสุขุมวิท เขตวัฒนา

– รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง
– รพ.วิชัยยุทธ เขตพญาไท
– รพ.พญาไท2 เขตพญาไท
– รพ.เปาโล เมโมเรียล เขตพญาไท

– รพ.ธนบุรี เขตบางกอกน้อย
– รพ.เจ้าพระยา เขตบางกอกน้อย
– รพ.หัวเฉียว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
– รพ.พญาไท1 เขตราชเทวี

– รพ.บางปะกอก 1 เขต ราษฎร์บูรณะ
– รพ.บางปะกอก9 เขตจอมทอง
– รพ.กรุงเทพคริสเตียน เขตบางรัก
– รพ. BNH เขตบางรัก
– รพ.เสรีรักษ์ เขตมีนบุรี

– รพ.เซนต์หลุยส์ เขตสาทร
– รพ.เวชธานี เขตบางกะปิ
– รพ.พญาไท3 เขตภาษีเจริญ
– รพ.นครธน เขตบางขุนเทียน
– รพ.กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย
– รพ.ยันฮี เขตบางพลัด

โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ ในเขตปริมณฑล

– รพ.ศรีธัญญา อ.เมือง จ.นนทบุรี
– รพ.ชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
– รพ.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

– รพ.พระนั่งเกล้า อ.เมือง จ.นนทบุรี
– รพ.นนทเวช อ.เมือง จ.นนทบุรี
– รพ.เกษมราษฎร์ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

– รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

โรคซึมเศร้า แม้จะฟังดูอันตราย แต่ถ้ารู้เท่าทันก็สามารถป้องกันได้ มาหมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบข้างกันดีกว่า เพื่อที่โรคนี้จะได้ไม่มาเกาะกินเราและคนใกล้ตัวได้

ขอบคุณข้อมูล : www.honestdocs.co / www.bumrungrad.com / คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา