อย. เครื่องสำอาง

อย. เตือน! อย่าซื้อเครื่องสำอางที่แจ้งยกเลิกผลิต ลักลอบขาย แอบอ้างเลข อย.

อย. เตือนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ “สตาร์บูม เบรสท์ เฟิร์มมิ่ง ครีม” หลังตรวจพบสถานประกอบการขาดต่ออายุใบอนุญาต และได้แจ้งยกเลิกไปนานแล้ว วันที่ 8 มี.ค. 62 นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา…

Home / NEWS / อย. เตือน! อย่าซื้อเครื่องสำอางที่แจ้งยกเลิกผลิต ลักลอบขาย แอบอ้างเลข อย.

อย. เตือนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ “สตาร์บูม เบรสท์ เฟิร์มมิ่ง ครีม” หลังตรวจพบสถานประกอบการขาดต่ออายุใบอนุญาต และได้แจ้งยกเลิกไปนานแล้ว

วันที่ 8 มี.ค. 62 นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สตาร์บูม เบรสท์ เฟิร์มมิ่ง ครีม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6010056273 สถานประกอบการ เลขที่ 1255/22ก ถนนเอกชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสถานะใบรับจดแจ้ง คือ ยกเลิกและสถานประกอบการปิดกิจการไปนานแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่ระบุวันที่ผลิตหลังจากยกเลิกใบอนุญาตจะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ผู้ที่ขายจะมีโทษทั้งจำและปรับ ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการสั่งระงับการโฆษณารวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่โฆษณาแล้ว ย้ำเตือนผู้ประกอบการต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่จดแจ้งไว้กับภาครัฐ ส่วนผู้ขายเครื่องสำอางต้องเลือกซื้อเครื่องสำอางจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ มีฉลากภาษาไทยแสดงข้อความครบถ้วนตรงตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นท่านจะถูกดำเนินคดีและอาจได้รับโทษตามกฎหมาย

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อสินค้าที่ไม่มีหลักแหล่ง อาทิ ตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์หรือโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ เพราะหากเกิดปัญหาจะได้สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาข้อความในฉลากภาษาไทยครบถ้วน ได้แก่ เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก หรือ 13 หลัก ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสม วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือน ปี ที่ผลิตหรือหมดอายุ

นอกจากนี้ ฉลากต้องไม่อวดอ้างว่าเครื่องสำอางดังกล่าว สามารถทำให้โครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนถึงขั้นเป็นการป้องกัน บรรเทา รักษาโรค หรืออาการของโรค ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ และ Social Media ขอให้แจ้งมาได้ที่ อย. โดยตรงทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

 

ที่มา Fda Thai