เทสโก้ โลตัส ประกาศยกเลิกระบุวันหมดอายุ (expiry date) บนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สดกว่า 251 รายการ เพื่อช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร หลังการวิจัย พบว่าผู้บริโภค 84% มักทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้เพียงเพราะวันหมดอายุที่ระบุบนฉลากและบรรจุภัณฑ์
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า กลุ่มเทสโก้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีเจตนารมณ์เป็นผู้นำการลดขยะอาหาร (food waste) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals) โดยกลุ่มเทสโก้ใช้กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร หรือ farm to table ในการลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเองแล้ว ยังรวมไปถึงการช่วยผู้บริโภคลดขยะอาหารในระดับครัวเรือนด้วย
โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ในระดับครัวเรือนคือความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ โดยจากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้บริโภค 84% มักจะทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้เพียงเพราะวันหมดอายุที่ระบุเอาไว้เท่านั้น ดังนั้น หนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถช่วยลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็นของผู้บริโภคได้ คือการระบุวันหมดอายุของสินค้าที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภค สำหรับสินค้าประเภทของสด เช่น ผักและผลไม้ ผู้บริโภคมักจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินว่าสินค้ายังสามารถรับประทานได้หรือไม่ จากการพิจารณารูปลักษณ์ภายนอก ผ่านการมองด้วยสายตา จับ และดมกลิ่น ฉะนั้น วันหมดอายุบนสินค้าเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็น และอาจทำให้ผู้บริโภคทิ้งสินค้าทั้งๆ ที่ยังสามารถรับประทานได้
ทั้งนี้ เทสโก้ในสหราชอาณาจักร ได้ยกเลิกการระบุวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทผักและผลไม้ทั้งหมด 70 รายการนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 ซึ่งล่าสุด เทสโก้ โลตัส ได้ยกเลิกการระบุวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้ทั้งหมด 251 รายการ จาก 277 รายการ โดยสินค้าที่ยังคงมีวันหมดอายุอยู่คือสลัดพร้อมรับประทาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการระบุวันหมดอายุ ส่วนผักกำและผลไม้ที่จำหน่ายแบบชั่งกิโล ไม่มีการระบุวันหมดอายุอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี เสียงสะท้อนที่ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ มองถึงเรื่องความเป็นธรรมกับผู้บริโภค อย่างเช่น สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Saree Aongsomwang ว่า “ยกเลิกวันหมดอายุไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ทางออกเรื่องทิ้งของสด ควรมีทางออก ในฝรั่งเศสเขาบังคับห้างไม่ให้ทิ้งอาหาร แต่บ้านเราบังคับให้ผู้บริโภคซื้อ”