กระแสการเมืองตอนนี้เรียกได้ว่าร้อนระอุยิ่งนัก ภายหลังเมื่อวานนี้ (7 ก.พ.62) ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน และทางพรรคทราบดีว่าทูลกระหม่อมฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีมติ 6 ต่อ 3 ให้สั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 8 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด
มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิการเมือง กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจำนวน 13 ราย ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ไม่สามารถจัดตั้งพรรคใหม่ได้ 10 ปี นับแต่วันที่ 8 ก.พ. 62
วันนี้ MThaiNews จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านย้อนเรื่องราวในอดีตกับประวัติศาสตร์คดีการยุบพรรคการเมือง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการคดีการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคการเมืองอื่นๆ มาให้ติดตามกันอีกครั้ง
คดียุบพรรคการเมืองจากอดีตสู่ปัจจบัน…?
การยุบพรรคการเมือง
การยุบพรรคการเมือง คือ การที่พรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดให้ต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมืองนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาเหตุของการร้องขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ระบุเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้ต้องมีการเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้
(1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
(2) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน
(3) มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่นตามหมวด 5
(4) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง
(5) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 35 หรือ มาตรา 62
ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้ว 92 พรรค แต่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นข่าวโด่งดัง คือการยุบพรรคใหญ่อย่าง พรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย และล่าสุดพรรคไทยรักษาชาติ
การวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2549 สืบเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในคดีกลุ่มที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในคดีกลุ่มที่ 2 ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนพยานครบถ้วนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคน ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายจนถึงเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เริ่มจากคดีกลุ่มที่ 2 ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุตลอดการอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี
จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า
พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน
กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วยกัน และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน
ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 เป็นคดีที่เป็นคดีที่ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคพลังประชาชน (2 ใบแดง) ถูกฟ้องเป็นจำเลย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ส่วนข้อกล่าวหากรณีที่พรรคพลังประชาชน เป็นนอมินีหรือตัวแทนของพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้ถูกตัดสินให้ยุบพรรคไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2550
คณะกรรมการเลือกตั้งสรุปว่าปรากฏหลักฐานเพียงพอที่พรรคพลังประชาชนเข้าข่ายเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย และ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี
จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551
คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคของแต่ละพรรคเป็นเวลา 5 ปี ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นว่าทั้ง 3 พรรคกระทำความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา111 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 94 (1) (2) และมาตรา 95 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค
คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2562 สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นเอกสารถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณา และวินิจฉัยการกระทำของ พรรคไทยรักษาชาติ เข้าข่ายขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งข้อ 17 (ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง) กรณีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ
ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 (ฉบับที่ใช้ปจจุบัน)
พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 ระบุไว้ว่า
เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการบัญญัติองค์กรผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดี มูลเหตุและเงื่อนไขของการยุบพรรคการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ
ต่อมาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้จำแนกมูลเหตุในการยุบพรรคการเมืองไว้ 2 ประเภท คือ
1.เหตุเนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และเหตุจากการยุบรวมพรรคการเมืองหรือยุบเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
2.เหตุอันเนื่องจากพรรคการเมืองมีการกระทำอันเข้าข่ายล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิไตย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ