ตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงแล้ว! กรณีพ่อแม่แจ้งเอาผิดแพทย์พยาบาล อ้างทำลูกตายขณะคลอด สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ยืนยันจะให้ความเป็นธรรม 2 ฝ่าย
เมื่อเวลา 15.00น.วันที่ 10 มีนาคม 2562 นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้เดินทางมาที่ โรงพยาบาล (ร.พ.)ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดกับเหตุการณ์ที่ นายบัวขาว ปราณีดุจศรี อายุ 47 ปี และนางจันจิรา ปราณีดุจศรี อายุ 25 ปี สองสามีภรรยา ที่เดินทางมาคลอดบุตรที่ ร.พ.ประชาธิปัตย์ แล้วบุตรเกิดเสียชีวิตเนื่องจากขณะคลอด
นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้เข้ามาดูเพื่อตรวจสอบหาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร โดยตนเองจะเป็นกลางให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่าย เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพยาบาลและฝ่ายคนไข้หรือผู้เสียหายซึ่งตอนนี้ได้รับข้อมูลมา 2 ด้าน คือจากการข่าวของสื่อมวลชน และได้รับรายงานจากทาง ผอ.ร.พ.ประชาธิปัตย์ ที่รายงานเป็นลายลักษณ์อักษร
โดยนำเอาข้อมูลทั้งสองฝ่ายมาประกอบกัน มีบางเรื่องที่ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ซึ่งตนเองจะตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการทำงานเป็นระบบโดยที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคลอดมีการประสานงานร่วมกับ ร.พ.ปทุมธานี ซึ่งเป็น ร.พ.ประจำจังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นแม่ข่าย เมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่ ร.พ.ชุมชนหรือ ร.พ.ประชาธิปัตย์ จะมีระบบไลน์ในการปรึกษาหารือกัน
ซึ่งเคสนี้ก็พบว่า มีการปรึกษาหารือกันเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นทางไลน์ กระบวนการดูแลของคนไข้รอคลอดคือการดูแลการก้าวหน้าของการคลอด โดยเคสนี้มีการก้าวหน้าของการคลอด หากไม่มีการก้าวหน้า เช่นการคลอดมีการติดขัด หรือมดลูกเปิดน้อยกว่าปกติ ซึ่งหากมีลักษณะแบบนี้ จะต้องส่งตัวผู้ที่เข้ารับการคลอดไปที่ ร.พ.แม่ข่ายคือ ร.พ.ปทุมธานี เพื่อทำการผ่าคลอด แต่บังเอิญจากข้อมูลการดำเนินการคลอด เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสามารถคลอดที่ ร.พ.ประชาธิปัตย์ได้
แต่พอคลอดออกมาแล้ว หัวเด็กนั้นมีหัวไหล่ติดอยู่ที่ช่องคลอด จุดดังกล่าวนี้ทำไม ไม่มีการทราบล่วงหน้า ซึ่งตนเองมีการสอบถามข้อมูลทางผู้เชียวชาญพบว่า ภาวะการคลอดที่ติดหัวไหล่นั้น เป็นภาวะที่จะคาดการล่วงหน้าได้ยาก เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อติดแล้วต้องรีบแก้ไข โดยต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินารีเวช หรือหมอทำคลอดเท่านั้นซึ่ง ร.พ.ประชาธิปัตย์นั้นไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ซึ่งเป็นเช่นนี้หลายๆ ร.พ.ของประเทศไทย พอติดขัดแล้วนั้นได้ทำการส่งตัวไปที่ ร.พ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นแม่ข่าย
โดยมีการประสานงานกันโดยมีการวิดีโอคอลกัน การจากตรวจสอบพบว่า ใช้เวลาการส่งตัวไม่นาน ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องหาแนวทางการแก้ไขว่า จะต้องทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยข้อมูลเบื้องต้น ตนเองได้แจ้งเรื่องไปผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขต4ไปแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษานั้นพบว่า ออกซิเจนหมดนั้นตนเองได้ตรวจสอบกับพยาบาลแล้วพบว่า คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาในการเปลี่ยนถังออกซิเจน แต่ก็จะต้องมีคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงมาตรวจสอบ และในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษาแจ้งว่าในวันเกิดเหตุนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปตามแพทย์มาทำการช่วยเหลือนั้น จากการตรวจสอบยืนยันได้ว่า ในวันเกิดเหตุแพทย์นั้นอยู่ภายในอาคาร ร.พ. ไม่ได้อยู่ด้านนอกหรือห้องพักแต่อย่างใด โดยดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับ
กรณีสินน้ำใจ ที่ทางแพทย์และพยาบาลมอบให้ผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 10,000 บาทนั้น ตนเองจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ทำไมจะต้องทำแบบนั้น จริงๆ แล้วในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการเยียวยาความเสียหายทางการแพทย์อยู่แล้ว คือมาตรา41 ซึ่งในวันพุธที่จะถึงนี้ตนเองจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการในการเยียวยา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมการอัลตราซาวด์ก่อนการทำคลอดมีการคำนวนน้ำหนักตัวเด็กที่ผิดพลาด ซึ่งหลังคลอดนั้นน้ำหนักตัวมีถึง 3800 กรัม แต่ทางร.พ.มีการแจ้งว่าน้ำหนักตัวมี 2800 กรัม ซึ่งต่างกันถึง 1000 กรัมหรือ 1 กิโลกรัมเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่สามารถคลอดออกมาได้นั้น นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า การอัลตราซาวด์ความชำนาญของแพทย์จะต้องตรวจสอบว่า ทำไมถึงประมาณการณ์ถึงแตกต่างจากความเป็นจริงแต่คิดว่าไม่ใช่ประเด็น