PM2.5 ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน

แพทย์ มช. เผย PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ทำอายุสั้นลง 0.98 ปี

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่อง “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง”  เผย PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ทำอายุสั้นลง 0.98 ปี มลพิษจากหมอกควันที่ยังทวีความรุนแรง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน…

Home / NEWS / แพทย์ มช. เผย PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ทำอายุสั้นลง 0.98 ปี

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่อง “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง”  เผย PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ทำอายุสั้นลง 0.98 ปี

มลพิษจากหมอกควันที่ยังทวีความรุนแรง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 พุ่งสูงเกินมาตรฐานต่อเนื่องแล้ว 3 วัน จนมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่เว็บไซต์ Airvisaul จัดอันดับคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในขั้นวิกฤตอันดับ 1 ของโลกในวันที่ 11 และ 12 มี.ค. ส่วนวันนี้ ( 13 มี.ค.) ยังคงติดหนึ่งในสามอันดับแรก

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดบรรยายเรื่อง “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง” ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 50 ปี โดยมีแพทย์ พยาบาล บุคคลากร นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เผยว่า พีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ประชาชนที่เกิดและอาศัยในพื้นที่นั้นตลอดชีวิตอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี รวมทั้งทุก ๆ 10 ไมโครกรัมของ พีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อวัน จะมีอัตราการมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งเข้าห้องฉุกเฉิน และ นอนรักษาตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งเกิดจากภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดในสมองแตก เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ หอบหืดกำเริบ

ผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่า พีเอ็ม 2.5 มีความสัมพันธ์กับการป่วยของ 4 โรค คือ ปอดอักเสบ , หัวใจขาดเลือด , มะเร็งปอด และ หลอดเลือดสมอง ขณะที่ 5 อันดับของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คือ โรคมะเร็ง , โรคหลอดเลือดในสมอง , โรคปอดอักเสบ , โรคหัวใจขาดเลือด และ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน ตามลำดับ โดยจะเห็นว่า 4 อันดับแรกของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษทิ้งสิ้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นยังรุนแรงเช่นนี้ หากมองถึงผลกระทบระยะยาวมากกว่านี้ 10 เท่า ประชาชนจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ประชาชนจะเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 -14 จะเป็นความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะมีปัญหาหลอดเลือดเสื่อมและทำให้เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ก่อนหน้านี้ เคยศึกษาวิจัยสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรใน จ.เชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงกับค่า พีเอ็ม 2.5 ซึ่งพบว่าในช่วงปี 2016 – 2018 พบว่าค่าพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สัมพันธ์กับการเสียชีวิตรายวันของชาวเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนที่ อ.เชียงดาว ที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำวิจัย พบว่าค่าพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาว อ.เชียงดาวเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 นอกจากนี้ยังมีการวิจัยถึงอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากผลกระทบของ พีเอ็ม 2.5 ในปี 2009 ซึ่งสำรวจข้อมูลในจังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวม 17- 18 จังหวัด รวมเชียงใหม่ด้วย อยู่ประมาณ 38,000 กว่าราย ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกเคยประมาณการณ์ไว้ที่ 37,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 3,000 กว่าคน

ขณะที่ผลกระทบระยะยาวซึ่งดูไม่รุนแรงแต่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ คือ เด็กจะโง่ขึ้น เด็กจะเป็นออทิสติกเพิ่มขึ้น มีอารมณ์เพี้ยนตอบสนองต่อสังคมแบบแปลกๆ ส่วนผู้ใหญ่จะเป็นอัลไซเมอร์และโรคพากินสันเพิ่มขึ้น ข้อมูลนี้อาจจะดูไม่น่าเชื่อ แต่มีหลักฐานทางการแพทย์ในระดับสูง ที่ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ ยังบอกอีกว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมลพิษหมอกควันที่รุนแรงขึ้น ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และ สุขภาพ มีผลกระทบและสร้างมูลค่าความเสียหายต่อปีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเดิมย้อนหลังกลับไปราว 10 ปี ปัญหาหมอกควันจะเกิดขึ้น 1 – 2 เดือน แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 – 5 เดือน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ จะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับคนที่เผาป่า ซึ่งก่อมลพิษที่ส่งปลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน