สถานการณ์ฝุ่นพิษในกรุงเทพฯและปริมณฑล
วันที่ 31 ม.ค. 2562 สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเวลา 07.00น. ตามสถานีจุดตรวจสอบสภาพอากาศ ตรวจสอบพื้นที่ริมถนนและพื้นที่ทั่วไป ค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้นทุกจุดเป็นสีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) และบางพื้นที่อยู่ในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน , พื้นที่ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี , ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลสภาวะอากาศสนับสนุนการเฝ้าระวัง PM 2.5 บริเวณ กรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 5 ก.พ. 62 โดยช่วงวันที่ 31 ม.ค. – 3 ก.พ. 62 ลมอ่อน ไม่มีฝน ฝุ่นละอองเคลื่อนตัวได้น้อย ส่วนวันที่ 4 – 5 ก.พ. 62 ลมแรงขึ้น มีฝนเล็กน้อย สถานการณ์ฝุ่นเริ่มจะคลี่คลาย
กรณีฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ระบาดทั่วเมืองกรุงฯ ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่เข้าใจว่า คืออะไรนั้น PM 2.5แท้จริงแล้ว คือ ฝุ่นที่มีขนาดละเอียดมาก ขนาดเทียบเท่ากับแบคทีเรีย หรือเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของเราจะกรองได้ ซึ่งฝุ่นละอองระดับนี้ระบบป้องกันในร่างกายไม่สามารถดักจับได้ดีนัก ทำให้มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด และหากจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อฝุ่นละออง มลภาวะต่างๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่ถูกต้อง คือ การดูแลตนเอง
ทางกรมควบคุมมลพิษ ออกมาตรการให้ประชาชนหันมารู้จักวิธีการป้องกันตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำไว้ มี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ
1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้
2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง หมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน
3.ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ ในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้
4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงาน นานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง
5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ดังนี้
1.เลือกใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน
2. ควรสวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า กดส่วนที่เป็นโลหะให้กระชับแน่นกับสันจมูก
3. เลือกขนาดที่เหมาะ ครอบได้กระชับกับจมูก และใต้คาง ควรแนบกับใบหน้า
4. ควรทิ้ง เมื่อพบว่าหายใจลำบาก หรือ ภายในหน้ากากสกปรก
5. หากเป็นไปได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่ทุกวัน
6. ถ้าสวมใส่แล้วมีอาการมึนงงหรือ คลื่นไส้ควรหลบไปอยู่ที่ที่ปลอดมลพิษอากาศ ถอดหน้ากากออกและปรึกษาแพทย์