เลือกตั้ง 62

เลือกตั้ง 62: รีวิว สีสันและไฮไลท์นโยบาย โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง

“ชี้ชะตาประเทศไทย เลือกตั้ง 2562 กับเว็บไซต์ MThai.com“ ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 62 แต่ละพรรคต่างปล่อยหมัดเด็ด รวมทั้งเชือดเฉือนกันอย่างถึงพริกถึงขิง MThai รวบรวมความเคลื่อนไหวของ 4 พรรคบิ๊กโฟร์ อันได้แก่ อนาคตใหม่,…

Home / NEWS / เลือกตั้ง 62: รีวิว สีสันและไฮไลท์นโยบาย โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง

“ชี้ชะตาประเทศไทย เลือกตั้ง 2562 กับเว็บไซต์ MThai.com

ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 62 แต่ละพรรคต่างปล่อยหมัดเด็ด รวมทั้งเชือดเฉือนกันอย่างถึงพริกถึงขิง MThai รวบรวมความเคลื่อนไหวของ 4 พรรคบิ๊กโฟร์ อันได้แก่ อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ และเพื่อไทย ซึ่งว่าด้วยเรื่องของไฮไลท์นโยบายและสีสันต่างๆ มารีวิวไว้ ณ ที่นี้

พรรคอนาคตใหม่

ตอกย้ำจุดยืน หยุดยั้งวงจรรัฐประหาร

หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงจุดยืนว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ท่าทีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็สะท้อนออกมาผ่านคำพูดบนเวที The Standard Debate ว่า “ต้องไม่ใช่แค่การพูดว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องพูดว่าไม่เอาพลังประชารัฐด้วย มีพรรคบางพรรคที่บอกว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่พร้อมจับมือกับพลังประชารัฐเพื่อให้ตัวเองได้เป็นนายก”

เรื่องนี้ทำให้ย้อนกลับมายังนโยบายซึ่งเป็นจุดยืนแรกเริ่มที่ชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่ ในการ ‘ปักธงประชาธิปไตย ล้างมรดกรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ เจ้านายคือประชาชน’

3 เรื่องใหญ่ๆ ที่พรรคอนาคตใหม่จะยุติวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร คือ

  1. ล้างมรดกบาปที่คณะรัฐประหารก่อไว้ ฟื้นให้รัฐธรรมนูญได้กลับมาเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ ไม่ใช่การใช้อำนาจของคนเหล่านี้ถูกยกเว้นไว้อยู่เสมอ
  2. เอาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลับคืนมาให้ได้อีกครั้งหนึ่ง ประเทศที่อารยะแล้วจะต้องไม่มีคนติดคุกเพียงเพราะการพูดและการเขียน
  3. ป้องกันไม่ให้คนหน้าตาแบบนี้กลับมารัฐประหารอีก โดยการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นโดยกองทัพ เช่น สถาปนาอำนาจของรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ลดงบประมาณทางทหาร ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบปัจจุบัน

นโยบายนี้สอดคล้องกับอีกเรื่องที่เป็นประเด็นขึ้นมา จากคำพูดของธนาธรเกี่ยวกับการสานต่อภารกิจคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ซึ่งธนาธรอธิบายว่า

“ประเทศไทยผ่านไปเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะมี ‘เผด็จการทหาร’ เข้ามากั้นระหว่างช่วง ดังนั้นความตั้งใจของผมเรียบง่าย เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้นจึงอยากจะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง อำนาจสูงสุดในการปกครองบริหารประเทศเป็นของประชาชน ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ” ธนาธรย้ำ

พรรคประชาธิปัตย์

ดัชนีชี้วัด ‘ปิติ’ เก็บภาษีมหาเศรษฐี ลดภาษีเอาใจคนชั้นกลาง

ต่อเนื่องจากความเคลื่อนไหวเรื่องไม่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ในเวลาต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ก็แถลงนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘สร้างชาติ: 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย’ ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายในชุดนโยบาย ‘แก้จน สร้างคน สร้างชาติ’ 

นโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ที่น่าสนใจ เช่น การสร้างดัชนีปิติ (PITI) หรือ Prosperity Index Thailand Initiative ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนแทนการยึดจากจีดีพีเพียงอย่างเดียว

แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของนโยบายชุดนี้ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานนโยบายเศรษฐกิจ หยิบยกเอาเรื่อง ที่มาของเงิน และการปฏิรูปภาษี มาพูดถึง เขาโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij ว่าเป็นโยบายที่ต่างกับหลายพรรค

“เราได้คำนวณประมาณการงบประมาณปี 2563 อย่างละเอียด และสรุปได้ว่าวงเงินที่ต้องใช้ขับเคลื่อนทุกนโยบายเรามีเพียงพอตามกฎหมายวินัยทางการคลัง และกฎหมายหนี้สาธารณะแน่นอน วางใจและตอบต่อคำถามว่า ‘เอาเงินมาจากไหน’ ได้

“วันนี้เราประกาศแนวทางที่ต่างกับหลายพรรคว่า …เราจะ ‘ไม่ลดภาษีของมหาเศรษฐีทุกประเภท’ และจะเก็บรายได้ภาษีเพิ่มจากเศรษฐีที่ดิน-เศรษฐีทรัพย์สิน-เศรษฐีหุ้น และเราจะมีมาตรการเก็บภาษีจากทุนผูกขาดที่ได้ความได้เปรียบด้วยใบอนุญาตพิเศษและสัมปทานจากรัฐ

“ส่วนเรื่องภาษีคนรายได้ปานกลาง ที่แบกรับภาระภาษีเยอะเกินไป (เมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สินของตน) คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแล เราจะปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 20% จากอัตราเดิม (เช่น 20% เป็น 16%) แต่จะไม่ลดในส่วนของคนรวยขั้นบนสุด และจะคงสิทธิการหักลดหย่อนภาษี สนับสนุนออมรองรับวัยเกษียณในตลาดทุนผ่าน RMF และปรับปรุงเกณฑ์ LTF

“รวมไปถึง ผู้ประกอบการ SME ที่ได้ผลกระทบหนักจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จะได้รับการดูแลด้วยการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 10%”

กรณ์ทิ้งท้ายในโพสต์นี้ว่า “ผมเข้าใจสภาพปัจจุบันดีจากเสียงสะท้อนของผู้คนทำงานตลอดการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา สู้ไปด้วยกันและหวังว่าเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งจะดีขึ้นครับ”

พรรคพลังประชารัฐ

บัตรประชารัฐ-มารดาประชารัฐ สานต่อนโยบาย ‘บิ๊กตู่

ที่ผ่านมาสีสันอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรืองการ ‘ดีเบต’ ของพรรคพลังประชารัฐ ดูเหมือนจะอยู่ที่การ ‘ไม่ดีเบต’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรค

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการนำเสนอนโยบายแล้ว ความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ที่การสานต่อนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง

 

เช่น บัตรประชารัฐ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดมาจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  โดยขยายจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สู่อีก 4 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุ, คนพิการ, สตรีมีครรภ์ และผู้ใช้แรงงาน

และที่เปิดตัวไปอย่างให้ความสำคัญก่อนหน้านี้อีกนโยบายหนึ่ง ก็คือ ‘มารดาประชารัฐ’ โดยจะดูแลตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด และจะดูแลต่อไปจนถึงอายุ 6 ขวบ

อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พูดถึงรายละเอียดของนโยบายนี้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “มารดาประชารัฐ จะดูแลตั้งแต่คุณแม่ฝากครรภ์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอดจำนวน 10,000 บาท หลังจากนั้นจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กอีกเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนมีอายุครบ 6 ปี เป็นจำนวนเงินรวมสูงสุด 144,000 บาท รวมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนเติบโตอายุถึง 6 ขวบ จะเป็นเงิน 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน”

มีคนคำนวณให้เสร็จสรรพว่า ปีที่แล้วมีเด็กเกิด 702,775 คน แจกคนละ 181,000 บาท ก็คิดเป็นเงินประมาณ 127,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งโดนจวกว่าผลาญภาษีมหาศาล

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐบอกต่อไปว่า สำหรับโครงการ มารดาประชารัฐ พรรคได้มีมาตรการรองรับการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ยึดโยงกับมาตรการเพิ่มรายได้ของรัฐ ที่พรรคได้กำหนดไว้เป็นนโยบายสร้างรายได้

นอกจากนี้ นโยบาย มารดาประชารัฐ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ลอกนโยบาย ‘เกิดปั๊ปรับเงินแสน’ ของพรรคประชาธิปัตย์มา ซึ่ง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรค กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า พรรคพยายามหานโยบายที่ดีให้ประชาชน แนวนโยบายของทุกพรรคจึงต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ คงลอกกันยาก

สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง อุตตมบอกว่าให้รอดูเซอร์ไพรส์ นอกจากนี้ พรรคจะนำเสนอตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคให้ประชาชนได้รับทราบ และหาวิธีช่วยหาเสียง ส่วนกรณีที่มีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ในลุค ‘โอตะ โอตู่’ นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคแต่อย่างใด

อัพเดตล่าสุด (14 มี.ค) ปรากฏว่าพลังประชารัฐปล่อยหมัดเด็ดออกมาคือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ปริญญาตรี 20,000 อาชีวะ 18,000

พรรคเพื่อไทย

ปัดฝุ่น 30 บาทรักษาทุกโรค  

พรรคเพื่อไทยชูนโยบายเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้าย คือ ‘ปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี สร้างเศรษฐีใหม่’ พร้อมกำหนดเดดไลน์ตามสไตล์ในการหาเสียงของพรรคว่า จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ได้ภายใน 180 วัน มีรายละเอียด เช่น พักหนี้เกษตกร 3 ปี, ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, เงินเดือนปริญญาตรีสตาร์ท 18,000 ฯลฯ รวมไปถึงมีนโยบายลดงบกลาโหม 10% ยกเลิกเกณฑ์ทหาร อันเป็นที่มาวิวาทะ ‘หนักแผ่นดิน’

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังมีสโลแกน ‘เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคนไทยคืนมา’ โดยระบุว่า ‘ลุง’ ในที่นี้ หมายถึง ‘ความคิดและสิ่งเก่าที่ทำให้สิ้นหวัง’

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย มีอยู่หน้าหนึ่งที่พูดถึง 3 นโยบายที่ยังอยู่ในใจประชาชนมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน (SML), โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาท รักษาทุกโรค’

ซึ่งโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคนี้เอง เป็นหนึ่งในไฮไลท์นโยบายที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชูว่าจะนำมาสานต่อในชื่อ ‘30 บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่’ ซึ่งเท่าที่เห็นยังมีรายละเอียดเป็นเพียงหลักการว่า มุ่งสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า แข็งแรงก่อนแก่ ตรวจสุขภาพก่อนป่วย มีหมอผ่านมือถือ คนไทยจะไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย

“30 บาทยุคใหม่ จะดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ เรารับประกันว่า ประชาชนทุกคนภายใต้สิทธิการรักษานี้ จะได้ ยาดี รักษาดี ไม่รอคิวนาน ปรึกษาหมอได้ผ่านมือถือเหมือนมีหมอประจำตัวที่บ้าน จองคิวและรับยาได้ผ่านเทคโนโลยี เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาลและลดภาระงานของบุคลากร” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุในเฟซบุ๊คนส่วนตัว

การสานต่อและชูนโยบายในอดีตของพรรคเพื่อไทยนั้น ทำให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ออกมาแซะว่า

“เราห่วงว่าคุณหญิงสุดารัตน์ จะไม่ได้เข้าสภา เดี๋ยวจะเหมือนขาดอะไรไปแบบไม่สมบูรณ์ และนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายเก่า ที่เหมือนเอาของบรรพบุรุษมาใช้ ไม่มีอะไรใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ผิดกับนโยบายของเราที่ใหม่ สด และทำได้จริง”

เจ็บ!

ไม่ว่าจะอย่างไร เพื่อไทยยังหมัดเด็ดอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ซึ่งชูนโยบายระยะยาว ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซ่อมและสร้างไปพร้อมๆ กันใน 4 ปี

“หัวใจของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องแจกเงินเหมือนแก้โรคพืชที่ใบ แต่พรรคต้องแก้ที่รากปัญหา คือ สร้างโอกาสให้คนทำมาหากินและสร้างรายได้ ไม่แบ่งเป็นชนบทหรือเมือง แต่รวมเป็นเนื้อเดียวกันเพราะชนบทรายได้ไม่ดีก็กระทบถึงเมือง ชนบทขับเคลื่อนเมืองต้องเดินหน้าไปด้วยกัน” ชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีกล่าว