เด็กหนุ่มนักศึกษาอาชีวะ วัย 21 ปี ที่ จ.เพชรบูรณ์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต บิดา-มารดา บริจาคอวัยวะให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยชีวิตคนอื่นได้อีก 5 ราย
ผู้สื่อข่าว MThai รายงานว่า ที่ จ.เพชรบรูณ์ ได้เกิดเรื่องราวดีๆ ที่มาจากการสูญเสีย หลังจากผู้ปกครองของนายอภิรักษ์ ชุมพาลี อายุ 21 ปี ชาวบ้านต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ตัดสินใจบริจาคอวัยวะลูกชายให้กับทางโรงพยาบาล เพื่อนำไปต่อชีวิตของผู้ป่วยคนอื่นๆ หลังจากลูกของพวกเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
โดย นางสกุลตลา ชุมพาลี อายุ 42 ปี แม่ของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันลูกชายกำลังเรียนหนังสืออยู่ระดับ ปวส.ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ และกำลังจะจบการศึกษาในอีกไม่กี่วัน โดยปกติลูกชายเป็นคนชอบบริจาคสิ่งของช่วยเหลือบุคคลอื่น รวมทั้งบริจาคเลือดให้แก่กาชาดมาโดยตลอด
เหตุการณ์อุบัติเหตุเกิดขึ้นในช่วงดึกของคืนวันที่ 11 มี.ค.2562 ขณะที่ลูกชายกำลังขี่รถจักรยานยนต์จากวิทยาลัย เพื่อจะกลับบ้านที่ ต.บุ่งน้ำเต้า ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งแพทย์ พยาบาลได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เมื่อเข้าสู่ภาวะสมองตาย พยาบาลได้มาพูดคุยเพื่อขอรับบริจาคอวัยวะของลูกชาย เพื่อนำไปช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ตนเห็นว่าหากลูกชายเสียชีวิตแล้ว ร่างกายและอวัยวะก็จะถูกเผาไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเต็มใจที่จะบริจาคอวัยวะทุกส่วนที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ ตามที่ลูกชายเคยบริจาคสิ่งของและบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว
นางสกุลตลา ชุมพาลี กล่าวต่ออีกว่า หากลูกชายรับรู้ได้ ตนก็อยากจะบอกว่าแม่ภาคภูมิใจในตัวลูกมาก ที่ขณะยังมีชีวิตอยู่ก็มีจิตในการบริจาคสิ่งของและบริจาคเลือด แม้กระทั่งเสียชีวิตแล้วร่างกาย อวัยวะของลูกยังสามารถไปช่วยชีวิตคนอื่นได้อีกหลายคน และเชื่อว่าผลบุญในครั้งนี้จะนำพาให้ลูกชายไปสู่ภพภูมิที่ดีในภายภาคหน้า
ด้าน นายแพทย์ศิริชัย แมงมีนาม แพทย์โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ในกรณีผู้บริจาครายนี้สามารถผ่าตัดนำอวัยวะไปช่วยเหลือผู้อื่นหลายส่วน เช่น ตับ ดวงตา 2 ข้าง ไต 2 ข้าง ซึ่งสามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นถึง 5 คน
แต่เนื่องจากโรงพยาบาลยังขาดแคลนเครื่องมือในการดูแล เก็บรักษา รวมทั้งการขนส่ง ที่จะต้องรวดเร็ว ทางโรงพยาบาลจึงได้แจ้งไปยังสภากาชาดไทย เพื่อส่งทีมแพทย์มารับบริจาคอวัยวะดังกล่าวไปรักษาผู้ป่วยคนอื่นๆ ต่อไป
การบริจาคอัวยัวะ คือการบริจาคอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคร่างกายโดยสิ้นเชิง เพราะการบริจาคร่างกายใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น และไม่สามารถบริจาคทั้ง 2 อย่างได้
- การบริจาคอวัยวะ มีข้อกำหนด คือ
- ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
เสียชีวิตจากภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
วิธีแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ
กรอกข้อมูลลงในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ให้ครบถ้วน ชัดเจน
แล้วส่งไปรษณีย์มาที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
(ดาวน์โหลดใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ได้ที่นี่ : >>)
การดูแลตัวเองหลังจากการบริจาคอวัยวะ
เมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยะฯ ได้รับข้อความแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้ หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
การเตรียมตัวในการบริจาคอวัยวะ
ขั้นตอนการเตรียมตัวบริจาคอวัยวะไม่ยุ่งยาก เนื่องจากการบริจาคอวัยวะเป็นเพียงการแสดงความจำนงไว้ก่อนเท่านั้น อีกทั้งต้องรอจนกว่าผู้บริจาคจะเข้าสู่ภาวะสมองตายแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถตรวจได้ว่าอวัยวะที่ประสงค์จะบริจาคสามารถใช้งานได้หรือไม่ ขั้นตอนในการบริจาคอวัยวะได้แก่
ตรวจสุขภาพ ผู้บริจาคอวัยวะจะต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรตรวจสุขภาพให้แน่ใจก่อนว่าตนเองสามารถบริจาคอวัยวะได้
แจ้งคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด แม้จะยื่นความจำนงแล้วแต่จำเป็นต้องมีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดช่วยประสานงานในเรื่องบริจาคอวัยวะในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะสมองตาย
ติดต่อหน่วยงานรับบริจาคเพื่อสอบถามข้อมูล ในกรณีที่ผู้บริจาคมีข้อสงสัย สอบถามได้จากหน่วยงานรับบริจาค เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนเข้ารับการบริจาค