นายกฯ ออกสารติงการหาเสียงชูนโยบายค่าแรง ต้องคำนึงงบฯ ไม่กระทบลงทุน ยันเลือกตั้งยึดกติกา ไม่ตอบปมส่งคลิปวิดีโอบนเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ
วันนี้ (15 มี.ค. 2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งสารถึงสื่อมวลชน แสดงความเห็นถึงกรณีที่พรรคการเมืองชูนโยบายที่จะใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะการสัญญาจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาลนั้นว่า
การชูนโยบายว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากบางเรื่องก็อาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชนรวมถึงภาครัฐ เช่น ด้านการศึกษา สวัสดิการและการขึ้นค่าแรง จึงขอยืนยันว่า
ทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบ วิธีการกฎหมายด้านงบประมาณ การเงิน การคลังและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรายได้และสัดส่วนงบประมาณโดยรวมของรัฐ มีทางเดียวที่จะทำได้ตามที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงกันไว้คือ รัฐต้องมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเก็บภาษีทั้งทางตรงทางอ้อมกำไรและรายได้ของรัฐวิสหกิจ ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ
เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยให้มากขึ้น และหากงบประมาณไม่เพียงพอก็ต้องกู้เงิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นด้วย การขึ้นค่าแรงก็ต้องไม่กระทบต่อการลงทุน การย้ายฐาน การผลิต การลงทุน ในขณะที่เรากำลังเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ เพิ่มงาน เพิ่มอาชีพ และเพิ่มการดูแลสวัสดิการให้กับประชาชนคนไทย
ไขข้อสงสัย ? ข้อดี-ข้อเสีย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ข้อดี
- ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่
- กระตุ้นให้ลูกจ้างทำงานมากขึ้น
- กระตุ้นการบริโภค
- ลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล
- กระตุ้นให้คนเข้าสู่ระบบแรงงาน
ข้อเสีย
- ความต้องการจำนวนแรงงานลดลง
- ทำให้ของแพงขึ้น
- คนตกงาน
- ลดความยากจนได้ แต่สร้างความเสียหายให้ธุรกิจ
ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะขยับค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตามเศรษฐกิจ ไม่ควรประกาศปรับขึ้นพรวดพราด เพราะจะส่งผลกระทบวงกว้างในเรื่องการทำธุรกิจได้