โควิด-19

ออสเตรเลีย เตรียมใช้ AI ศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก เพื่อวิธีรักษาที่ดีที่สุด

วันนี้ (13 พ.ค.63) สำนักข่าวซินหัวรายงาน การศึกษาระดับโลกเกี่ยวกับหน่วยดูแลผู้ป่วยหนักหรือไอซียู (ICU) เผยว่า มีการเตรียมนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) มาใช้เพื่อเผยให้เห็นว่ามาตรฐานใดที่ใช้ได้ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลกในการรักษาผู้ป่วยอาการวิกฤต ตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย โควิด-19 จากห้องไอซียู…

Home / NEWS / ออสเตรเลีย เตรียมใช้ AI ศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก เพื่อวิธีรักษาที่ดีที่สุด

วันนี้ (13 พ.ค.63) สำนักข่าวซินหัวรายงาน การศึกษาระดับโลกเกี่ยวกับหน่วยดูแลผู้ป่วยหนักหรือไอซียู (ICU) เผยว่า มีการเตรียมนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) มาใช้เพื่อเผยให้เห็นว่ามาตรฐานใดที่ใช้ได้ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลกในการรักษาผู้ป่วยอาการวิกฤต

ตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย โควิด-19 จากห้องไอซียู 300 แห่งทั่วโลก

การศึกษาที่นำโดยออสเตรเลียครั้งนี้ มุ่งตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากห้องไอซียู 300 แห่งทั่วโลก ด้วยหวังว่าจะสามารถเผยให้เห็นถึงวิธีการรักษาต่างๆ ที่มีประสิทธิผลมากที่สุด

จอห์น เฟรเซอร์ (John Fraser) ศาสตราจารย์-นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ (UoQ) และหัวหน้าแผนกไอซียูของโรงพยาบาลเซนต์แอนดรูวส์ (St Andrews) ในนครบริสเบน ระบุว่าการศึกษาร่วมด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่เป็นโรคโควิด-19 (COVID-19 Critical Care Consortium Study) นับเป็นการศึกษาในด้านนี้ เป็นครั้งแรกของโลก

“บรรดาแพทย์และพยาบาลในแนวหน้าต่างต้องการข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในการแนะแนวทางการรักษา โดยเฉพาะเมื่อต้องรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน แต่ขณะนี้บรรดาผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้เลย” เฟรเซอร์ระบุ

การศึกษาครั้งนี้ จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย โควิด-19

การศึกษาครั้งนี้มุ่งวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยหลายหมื่นรายจาก 6 ทวีปทั่วโลก เพื่อสร้างต้นแบบสำหรับการพยากรณ์ (predictive models) และข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในการแนะแนวทางการรักษาผู้ป่วยหนัก แก่เหล่าผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ในหน่วยผู้ป่วยหนัก นักวิจัยจะใช้เครื่องมือเอไอล้ำยุค ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฯ และบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ในการทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าว

บรรดาผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์จะสามารถใช้เครื่องมือใหม่นี้ในการบันทึก แบ่งปัน และเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ในการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดสัญญาณชีพ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะเวลารักษาในห้องไอซียูและอัตราการรอดชีวิต

“เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจะสามารถเสริมสร้างแนวทางการดูแลผู้ป่วยหนัก พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในหมู่แพทย์และพยาบาล ทั้งยังแนะแนวทางการรักษาโรคในอนาคตได้อีกด้วย” เฟรเซอร์กล่าว

“ที่สำคัญที่สุด การศึกษาครั้งนี้จะเผยกลไกที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่จำเป็นสำหรับบรรดาผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ ในการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดอย่างรวดเร็ว และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยหนัก”

ติดตามสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 : https://news.mthai.com/covid-19