ประเด็นน่าสนใจ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดทดลองให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด
- เปิดให้ใช้ฟรี 22 พ.ค. ถึงสิ้นเดือน ส.ค.63
- ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์
วันนี้ (22 พ.ค.63) ณ ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางอู่ตะเภา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดทดลองให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา
ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขยายโอกาสการค้าและการลงทุน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต สร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน
เปิดให้ใช้ฟรี 22 พ.ค. ถึงสิ้นเดือน ส.ค.63
ในวันนี้ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด พร้อมเปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้ว โดยผู้ใช้ทางสามารถเข้ามาใช้บริการได้ 2 ทาง คือ วิ่งต่อเนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี – พัทยา ที่บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน หรือเข้าจากทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท ที่ด่านอู่ตะเภา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จของกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด เป็นทางหลวงมาตรฐานสูงที่มีการควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ (Fully Controlled Access) มีถนนขนาด 4 – 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อเส้นทางสายชลบุรี-พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มุ่งไปทางทิศใต้ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณบรรจบทางหลวงหมายเลข 3 เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทางรวม 32 กม.
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์
นับเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ดียิ่งขึ้น โดยกรมทางหลวงใช้รายได้ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจาก
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมาใช้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา ได้แก่ งานโยธา (งานก่อสร้างทางและสะพาน) 13 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท (มูลค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท และมูลค่าก่อสร้าง 11,784 ล้านบาท) โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2559 จนเปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้วในวันนี้
ใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง
สำหรับรูปแบบโครงการมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร ที่ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้ทางสามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากทางแยกต่างระดับมาบประชันถึงสนามบินอู่ตะเภาลงกว่า 30 นาที
โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการมีด่านชำระค่าผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมสู่บ้านอำเภอ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมสู่ทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯ อู่ตะเภา เชื่อมสู่ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางประกอบด้วย ระบบเงินสด (MTC) และแบบอัตโนมัติ (ETC)
ซึ่งสามารถพัฒนาสู่รูปแบบการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง นอกจากนี้ผู้ใช้ทางยังสามารถจอดพัก ผ่อนคลายจากการขับขี่ได้ ณ จุดพักรถ (Rest Stop) มาบประชัน และสถานที่บริการทางหลวง (Service Area) บางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดให้บริการภายในปี 2565
จุดพักรถ-พักคน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ยังช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ จ.ระยอง ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น มีความปลอดภัย และยังมีระบบควบคุมการจราจร จุดพักรถ-พักคน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
อีกทั้งยังมีศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารและหน่วยงานกู้ภัย เพื่ออำนวยความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้ประชาชนเดินทางเข้าถึงแหล่งงานและแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก เสริมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน