ประเด็นน่าสนใจ
- วันนี้ (27 พ.ค.63) เป็นวันแรกเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
- นายกรัฐมนตรี ชี้รัฐบาลมีความจำเป็น เพื่อเสริมสร้างด้านสาธารณสุข การจ่ายเงินเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
- ชี้ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ภาพธุรกิจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่อง
บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันแรกเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เข้าสู่การพิจารณาแล้ว โดยให้อภิปรายพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับไปในคราวเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ลงมติแยกกัน
ทั้งนี้ ผู้ที่จะอภิปรายให้อภิปรายแค่ 1 ครั้ง ให้ครอบคลุมทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล ส่วนกรอบการพิจารณาวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเห็นชอบกำหนดระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2563 รวม 5 วัน ตั้งแต่เวลา 09.30 น. – 20.00 น.
เนื่องจากช่วงการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือ เคอร์ฟิว โดยกำหนดอภิปรายฝ่ายละ 24 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนของรัฐบาล รวมเวลาการชี้แจงของคณะรัฐมนตรีด้วย ขณะที่ฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายประมาณ 65 คน ได้วางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด จัดให้ ส.ส. นั่งเว้น 1 ที่นั่ง เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม และทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย
นายกฯ ชี้แจง พ.ร.ก.กู้เงินฉบับที่ 1
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจง พ.ร.ก.กู้เงินฉบับที่ 1 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพ ระบบเศรษฐกิจไทย หดตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้
เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปิดพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรัฐบาลประมาณการว่า มีการเสียรายได้กว่า 9.28 แสนล้านบาท และมีคนว่างงานนับล้านคน ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทาง ในการจัดการงบประมาณ แต่เงินยังไม่มีเพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในประเทศรัฐบาลจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการสร้างสถานบริการด้านการสาธารณสุข การจ่ายเงินเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดหายงบประมาณไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายปัจจุบันได้จึงมีการตราพระราชกำหนดซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบและเพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างโปร่งใส จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดกรองการใช้จ่ายเงินกู้ขึ้น
ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ภาพธุรกิจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่อง
นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล ในการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 2019 ว่า ผู้ประกอบการทางธุรกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งจ้างงาน การให้สินเชื่อเพิ่มเติมและชะลอการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ภาพธุรกิจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจกระทบต่อระบบเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ และมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉบับนี้
ส่วนความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.BSF เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และไม่มีการคาดการณ์ว่าจะยุติลงเมื่อใด ทำให้เกิดภาวะชะงักงันฉับพลัน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่เป็นการลงทุนสำคัญทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกระทันหันกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งกองทุน BSF โดยเป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะสั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ชี้ ตอนนี้เศรษฐกิจไทย มี 3 จ. คือ เจ็บ จน เจ๊ง
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคไทย และ ส.ส. กทม. อภิปรายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ตนเรียกชื่อว่า พ.ร.ก. เราไม่ทิ้งกัน 2020 แต่ชาวบ้านเรียกว่า “พ.ร.ก. เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020” ซึ่งมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า การออก พ.ร.ก. ครั้งนี้ รัฐบาลข้ามขั้นตอนสำคัญไปหลายประการ โดยเฉพาะการสำรวจงบประมาณที่มีอยู่เดิม จนสังคมตั้งข้อครหาว่ารัฐบาลตั้งใจกู้เงินมากเกินไปเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ เพราะไม่มีรายละเอียดโครงการเลยว่าจะเอาไปใช้อะไร แถมยังเปิดกรอบให้กู้ยาวไปถึง กันยายน 2564
ทั้งนี้เป็นห่วงในเรื่องของเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหาย จากการบริหารที่ผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลมาก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ซึ่งมาตรการที่รัฐเลือกใช้ไม่ได้สัดส่วนกับเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่รัฐบาลยังคงประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่เสียหายอยู่แล้วพังพินาศมากขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 3 ป. แต่มี 3 จ. คือ เจ็บ จน เจ๊ง ของเศรษฐกิจไทย
“อุตตม” ยัน พรก. เราไม่ทิ้งกัน โปร่งใส-ตรวจสอบได้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้นไม่กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพราะส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้เงินกู้แต่เป็นสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำสภาพคล่องมาใช้แก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศเท่านั้น สถานการณ์โควิด19เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจ เป็นวิกฤตในระดับโลก หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไม่ต่างกัน เราไม่ได้สบายใจ เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงแน่นอน ซึ่งเป็นผลกระทบที่เฉียบพลัน
ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา คือ
1.การดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและผู้ประกอบการในทันที เพื่อให้มีเงินในกระเป๋าเพียงพอที่จะยังชีพในภาวะเศรษฐกิจหดตัว เงินในกระเป๋าเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ทันที
2.การดูแลผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายเล็กหรือ sme เป็นผู้ที่จ้างงานร้อยละ 80 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศก็กระทบต่อธุรกิจของเขา และกระทบมาที่เงินในกระเป๋าของประชาชน และจะเป็นวัฏจักรที่กลับไปกระทบต่อการทำธุรกิจต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ
3.การพยายามปกป้องและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งตลาดการเงินและตลาดทุนของประเทศ ทุกภาคส่วนวันนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันหมด
“สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนกับสถานการณ์เมื่อปี 2540 ที่เป็นวิกฤตระดับภูมิภาค และไม่มีเรื่องความเป็นความตายของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง จากเป้าหมายที่มีรัฐบาลได้กำหนดแนวทางที่ใช้กันทั่วโลก โดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ได้เสนอแนวทางเชิงนโยบายให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ให้มุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางก่อน และใช้มาตรการทางการคลังในวงกว้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
ซึ่งเป็นแนวทางสากลที่ช่วยเหลือประชาชน การกู้เงินเรามีกรอบที่รัดกุม ไม่ได้แตกต่างจากอดีต และการประเมินผลงานก็ใช้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติเข้ามาดำเนินการ อย่างโครงการไทยเข้มแข็ง และ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ
และกรณีเราไม่ทิ้งกัน ก็มีวัตถุประสงค์ของการตราพระราชกำหนดไม่แตกต่างกัน ถามว่าการกู้เงินครั้งนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้นรัฐบาลได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ การเยียวยาและการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ การกู้เงินครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 6ต่อจีดีพี หรือร้อยละ 31ของงบประมาณประเทศ เรามีสัดส่วนการกู้เงินครั้งนี้ไม่ได้กระโดดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นการกู้เงินในภาวะวิกฤต”
นายอุตตมกล่าวว่า การกู้เงินครั้งนี้เราอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย และวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในอดีตไม่มีกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ภายหลังมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายแทบทั้งสิ้นผ่านตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ได้แก่
1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 57.96 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60
2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ร้อยละ21.2 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 35
3.สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน ร้อยละ10 และ4.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 0.19จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5
“ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจริงๆ ผมเชื่อว่า ส.ส.ก็ไม่ใครคาดคิดได้ก่อนว่าจะมาแรงขนาดนี้ การดำเนินการเยียวยาก็ต้องดำเนินการให้เร็วเช่นกัน ความล่าช้ายอมรับว่าต้องใช้เวลาเพราะเรากำลังใช้งบประมาณแผ่นดินที่ต้องรัดกุม
และข้อมูลที่ใช้นั้นข้อมูลประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อมที่จะดำเนินการเยียวยาได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็น อย่างผู้ประกอบอาชีพอิสระเราไม่ได้มีข้อมูลว่าเป็นใครที่ไหนบ้าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องให้มีการลงทะเบียน ครั้นจะจ่ายแบบทุกคน ถ้าทำได้ก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในแง่งบประมาณเช่นกัน”
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสำหรับภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทุกหน่วยงานจะดูแลให้ความเข้มแข็ง ระบบเศรษฐกิจของเรายังคงอยู่และต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศ เรายอมรับว่ามีปัญหา และล่าช้าบ้าง
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เช่นอาชีพอิสระ เราไม่ได้มีถังข้อมูลที่จะชี้ชัดว่าอาชีพอิสระอยู่ที่ไหนใครบ้างเป็นเหตุผลที่ทำไมต้องเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนเข้ามา ถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเช่นกัน และทรัพยากรที่มีอยู่ ต้องเน้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน แต่เรามีการดูแลทุกประเภท เช่นแรงงานอิสระ เกษตรกร แรงงานในระบบ เจ้าหน้าที่ส่วนภาครัฐก็มีการดูแลอยู่ตามปกติอยู่แล้ว
“ยอมรับว่ามีความล่าช้า และมีปัญหาอยู่บ้างเพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้ และรับฟังข้อชี้แนะนำทุกอย่าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ทำงานหนักจริง ๆ โดยมีการนำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
โดยรัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด แม้วิกฤตจะพ้นไป แต่ยังต้องดูแลต่อเนื่องทั้งการฟื้นฟู และคำนึงถึงข้อมูลที่ได้มาแเพื่อจะได้นำไปใช้ต เช่น อาชีพอิสระเป็นโอกาสให้เราได้เก็บข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายบริหารประเทศในอนาคต”รมว.คลังกล่าว