ในวันที่ 19 มีนาคม นี้ ศาลมีนัดตัดสินคดีล่าเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพวกตกเป็นจำเลย
หากย้อนคดีฆ่าเสือดำ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่า 1 ปีแล้ว นับเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจจนนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักอนุรักษ์ ตัวแทนของสัตว์ป่าออกมาส่งเสียงเรียกร้องถึงกระบวนการยุติธรรมทางกฏหมาย
ย้อนกลับไปเหตุการณ์วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 นาย เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ตรวจสอบพบว่าลักลอบตั้งแคมป์และลักลอบล่าสัตว์ป่า หลังนายเปรมชัยกับพวกได้เข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์
โดยการจับกุมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจพบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง นอกจากนี้ยังตรวจพบอาวุธปืนลูกกรดติดลำกล้อง 1 กระบอก ปืนไรเฟิลติดลำกล้อง 1 กระบอก และปืนลูกซองแฝด 1 กระบอก จึงควบคุมตัวนายเปรมชัย และพวกไปที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก
กระทั่งเจ้าหน้าที่พบซากเสือดำ พร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนอีกจำนวนมากที่ถูกซุกซ่อนไว้ใกล้กับแคมป์พัก จากการเข้าไปตรวจสอบตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นายเปรมชัยกับพวกจึงถูกควบคุมตัวดำเนินคดีที่ สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก่อนที่ในช่วงบ่ายศาลจังหวัดทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด ด้วยวงเงินประกันคนละ 150,000 บาท
7 กุมภาพันธ์ 2561 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าค้นบ้าน นายเปรมชัย ย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ พบปืนไรเฟิล ปืนยาว และปืนสั้น รวม 43 กระบอก แต่ไม่พบตัวนายเปรมชัย
จากเหตุการณ์นี้ พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวนคดีส่งต่ออัยการจังหวัดทองผาภูมิ เพื่อฟ้องนายเปรมชัย จำนวน 10 ข้อหา และพนักงานอัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหา ประกอบด้วย ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า , ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง , ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง , ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย และร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมให้ชดเชยค่าเสียหายให้กรมอุทยานฯ จากการก่อคดีจำนวน 462,000 บาท ซึ่งหนึ่งในข้อหาที่อัยการสั่งฟ้อง มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
ส่วนข้อหาที่ไม่สั่งฟ้องคือ ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง , ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า , ร่วมกันมีเครื่องมือสำหรับการล่าสัตว์ป่า , ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่า และร่วมกันกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร
ล่าสุดศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้สืบพยานฝ่ายโจทก์ จำนวน 32 ปาก และฝ่ายจำเลย จำนวน 17 ปาก เสร็จเรียบร้อย ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูในโซเชียล ว่าอัยการหัวหน้าคณะทำงาน สั่งไม่ฟ้องคดีเสือดำ โดยมีการออกมายืนยันเป็นไปไม่ได้ เพราะกระบวนการใกล้ถึงวันศาลนัดพิพากษา 19 มี.ค. นี้