blind trust ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

เผยข้อสงสัย Blind Trust คืออะไร? หลัง ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้ากว่า 5 พันล้าน

นักวิชาการอิสระด้านการเงิน เผยข้อสงสัย หลัง ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust กว่า 5 พันล้าน จากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการโอนทรัพย์สินส่วนตัวจำนวน…

Home / NEWS / เผยข้อสงสัย Blind Trust คืออะไร? หลัง ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้ากว่า 5 พันล้าน

นักวิชาการอิสระด้านการเงิน เผยข้อสงสัย หลัง ‘ธนาธร’ โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust กว่า 5 พันล้าน

จากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการโอนทรัพย์สินส่วนตัวจำนวน 5 พันล้านบาทเข้ากองทุน blind trust ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยระบุว่าวิธีดังกล่าวเป็นการให้บุคคลที่สาม คือ blind trust เข้ามาดูแลและมีอำนาจในการบริหารทรัพย์สินเพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และหวังให้เป็นมามาตรฐานทางการเมืองใหม่ที่จะลบข้อสงสัยว่าการเข้ามาทำงานการเมืองนั้นจะต้องหวังผลประโยชน์ ขณะที่เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าว หากมีการยกเลิกจะต้องพ้นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาบริหารเอง

โดยล่าสุดวันนี้ (18 มี.ค.) คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล อธิบายถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งมีเนื่อหาดังนี้

1. การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจทุกคนควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ามุ่งคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (ออกนโยบายเอื้อธุรกิจตัวเองหรือพวกพ้อง) หรือใช้ข้อมูลภายในที่ได้จากตำแหน่งทางการเมืองไปซื้อหุ้นทำกำไร

เรื่องนี้รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยให้ความสำคัญมาตลอด แต่มีหลายคนหาทางซิกแซก “ซุกหุ้น” ตลอดมา อย่างเช่นคดีอดีตนายกทักษิณเมื่อหลายปีก่อน ที่ตัวเองก็เคยเขียนวิจารณ์ไปหลายรอบ

รัฐธรรมนูญ 2560 วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา 184 ​ห้าม​ไม่​ให้​ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือ​หุ้น​ใน​บริษัท​หรือ​กิจการ​ที่​ได้​รับ​สัมปทาน​จาก​ภาค​รัฐ​หรือ​เป็น​คู่สัญญา​กับ​รัฐ​ทั้ง​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม

2.ถ้าการห้ามถือหุ้น แปลว่าต้องขายหุ้นไปให้คนอื่น นักการเมืองก็จะไม่ได้รับประโยชน์โภชผลใดๆ ในหุ้นนั้นอีก เท่ากับหมดสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่(เคย)เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจของนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง

ฉะนั้นคำถามก็คือ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ตัดสิทธิของนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากหุ้น? คำตอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากลทำกันทั่วโลก คือ ให้ทำข้อตกลงโอนหุ้นนั้นให้มืออาชีพทางการเงินบริหารแทนระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ถ้าจะให้ดีก็ควรให้บริหารแบบ blind trust คือ ให้เจ้าของเดิม (นักการเมือง) ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในทรัพย์สินนั้นเลย ไว้ใจให้มืออาชีพบริหารจัดการแทนให้เกิดผลงอกเงย ระหว่างที่ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง

การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้

3. การลงนาม MOU ของคุณธนาธร โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ก่อนที่ตัวเองจะรู้ผลการเลือกตั้ง (ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ด้วยซ้ำ) จึงนับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง สังคมควรเรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม

สำหรับคำถามที่ว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมืองคนแรกในไทยหรือไม่ที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ส่วนตัวไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก (เท่าที่เคยเห็น) ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยข้อมูลย้อนหลังพบว่าในประเทศไทยยังเคยมีอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 15 คนที่ใช้วิธีดังกล่าว ซึ่งหากรวมนายธนาธรด้วยแล้วนั้นจะมีจำนวน 16 คน

โดยในรัฐบาลนายชวน 3 คน ได้แก่

1.นายสาวิตต์ โพธิวิหค อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

2.นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใช้บริการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ เป็นผู้บริหารหุ้นแทน

ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มี 6 คน ได้แก่

1.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

2. นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

3.น.พ.พฤติชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

4.นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

5. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

6.นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่าที่ตรวจพบมีจำนวน 3 คน ได้แก่

1.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

2. นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

3.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 3 คน ได้แก่

1.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

2. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

3. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี