เครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควัน แนะยกสถานการณ์ฝุ่นพิษเป็นวาระชาติ เตรียมสรุปข้อเสนอส่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่
วันที่ 18 มี.ค. 2562 ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาชนนับร้อยคนที่รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่” ร่วมกันระดมความคิดเห็นต่อสถานการณ์มลพิษจากฝุ่นควัน และเสนอทางแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
หลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบปัญหาหมอกควันเข้าขั้นวิกฤต ติดอันดับโลกติดต่อกันนานกว่าสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหนักหนาสาหัส
การพูดคุยกันในครั้งนี้มีการเสนอความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น ทั้งการยกระดับปัญหาเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ การประกาศภัยพิบัติและการจัดการภัยพิบัติ การหาแหล่งกำเนิดของหมอกควันทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงปริมาณเพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างตรงจุด และการกฎหมายระดับชาติที่จะใช้ควบคุมการก่อหมอกควัน เป็นต้น
ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะมีการสรุปประเด็น ก่อนที่เครือข่ายจะส่งตัวแทนยื่นข้อข้อเสนอทั้งหมดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดรับมือ แก้ไขปัญหา และ ร่วมกันกับทุกภาคส่วนหาทางออกที่เหมาะสมอย่างจริงจัง
รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ปีนี้ปัญหาหมอกควันค่อนข้างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับผู้คนจำนวนมาก หลายคนถึงขั้นไอเป็นเลือด สะท้อนถึงอันตรายของฝุ่นควัน ปัญหาหมอกควันจึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทางเครือข่ายที่ทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่และต้องได้รับผลกระทบโดยตรง คาดหวังให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและตรงจุด เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้จากข้อมูลทางเว็ปไซต์ airvisual.com รายงานคุณภาพอากาศเมืองเชียงใหม่รั้งอันดับสองเมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ขณะที่ยังอยู่หนึ่งในสามของเมืองคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลกติดต่อกัน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ดังนี้
1.เลือกใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน
2. ควรสวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า กดส่วนที่เป็นโลหะให้กระชับแน่นกับสันจมูก
3. เลือกขนาดที่เหมาะ ครอบได้กระชับกับจมูก และใต้คาง ควรแนบกับใบหน้า
4. ควรทิ้ง เมื่อพบว่าหายใจลำบาก หรือ ภายในหน้ากากสกปรก
5. หากเป็นไปได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่ทุกวัน
6. ถ้าสวมใส่แล้วมีอาการมึนงงหรือ คลื่นไส้ควรหลบไปอยู่ที่ที่ปลอดมลพิษอากาศ ถอดหน้ากากออกและปรึกษาแพทย์