เมื่อเอ่ยถึงคดีเสือดำ ถือเป็น 1 ในคดีดังมาก ที่ทุกคนในประเทศต่างรู้จัก วันนี้ 4 ก.พ. วนมาครบรอบ 1 ปี พอดี ทีมงาน MThai News จะสรุปย้อนรอยทุกเหตุการณ์ ทุกประเด็นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะถึง “วันพิพากษา” 19 มีนาคม 2562
ย้อนรอยเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ 4 ก.พ. 2561
จากบันทึกการจับกุมของหัวหน้าวิเชียร ชิณวงศ์ ความยาว 7 หน้า เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 4 ก.พ. 2561 ไว้อย่างละเอียด พอให้เราสรุปเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์สั้นๆ ตามบันทึกดังกล่าว
13.00 น. มีกลุ่มคนจำนวน 4 คนด้วยกัน เป็นชาย 3 หญิง 1 กางเต็นท์พักแรมบริเวณริมลำห้วยปะชิ จากการสอบถามของเจ้าหน้าที่ พบพิรุธหลายประการ ที่น่าสงสัยว่าจะทำอะไรบ้างที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ จึงได้แจ้งตักเตือนให้หยุดดำเนินการ ก่อน จนท. จะขับรถเลี่ยงออกมาซุ่มสังเกตการณ์
14.00 น. จนท.ที่ซุ่มอยู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ก่อนหัวหน้าวิเชียร สั่งทีมเจ้าหน้าที่ สั่งชุดทำงานเข้าตรวจสอบทันที
16.00 น. ชุดสายตรวจถึงจุดตั้งแคมป์ดังกล่าว พบชาย 2 หญิง 1 ซึ่งทราบชื่อภายหลังคือ นายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ และนางนที เรียนแสน อยู่ในจุดตั้งแคมป์ ที่จนท.ได้ตักเตือนให้ย้ายออก
ผลการตรวจสอบพบอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเช่น เบ็ดธง-เบ็ดตกปลา โดยมีการปิดอำพรางอยู่ ระหว่างนั้น จนท. ยืนยันให้ทั้งหมดย้ายออกจากจุดดังกล่าว
16.30 น. ชุดสายตรวจ เข้าตรวจจุดที่ได้ยินเสียงปืน พบชายคนหนึ่งพร้อมปืนติดลำกล้องในมือ สภาพพร้อมใช้งาน ทราบชื่อภายหลังคือ นายธานี ทุมมาศ จึงได้คุมตัวไว้
ระหว่างนั้น จนท. ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ พบปลอกกระสุนปืน ซากเครื่องในสัตว์สภาพสดใหม่ซุกซ่อนอยู่ ขนสัตว์ในบริเวณดังกล่าวด้วย
18.00 น. หน.วิเชียร ถึงจุดเกิดเหตุพร้อมชุดสายตรวจเข้าไปสมทบอีก จึงได้ทำการตรวจค้นอย่างละเอียด พบอุปกรณ์ ซากสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปืนที่ซุกซ่อนอยู่ในบริเวณที่ตั้งแคมป์
หลังจากนั้น สั่งคุมพื้นที่ห้ามใครเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
1.30 น. ของวันที่ 5 ก.พ. ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไปยังสำนักงานเขตฯ ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก
2.30 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดถึงสำนักงานเขตทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก
เช้าวันที 5 ก.พ. 2561 หน.วิเชียร นำทีมเข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เองทำให้ตรวจพบซากเสือดำที่ชำแหละเรียบร้อยแล้ว ซุกซ่อนอยู่ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาให้ทั้ง 4 คนทราบ ซึ่งทั้งหมดเซ็นต์รับทราบข้อกล่าวหา ก่อนนำตัวส่งให้กับพนักงานสอบสวน
6 ก.พ. ป่าตะโกนก้องโซเซียล “จับกุมประธานอิตาเลียนไทยฯ ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่”
แม้ว่าจะมีการจับกุมการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2561 แต่กว่าข่าวชัดเจนออกมาที่สุดคือวันที่ 6 ก.พ. หลังมีการนำผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภาพแรกที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วโลก กลายเป็นภาพที่ทุกคนจำได้ไม่ลืม
โพสต์แรกที่มีภาพ-ข้อมูลยืนยันการจับกุมดังกล่าวมาจากเพจ “คนอนุรักษ์” ที่เรียกว่าสร้างความตื่นตะลึงให้กับโลกภายนอกทุ่งใหญ่ฯ อย่างมาก
ก่อนที่ มูลนิธิสืบฯ จะออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
แถลงการณ์กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 https://t.co/pLyysnVpYj pic.twitter.com/k9bssK4SH8
— Seub Nakhasathien (@seubfd) February 6, 2018
หลังจากนั้นกระแสต่างๆ ก็ถาโถมราวกับสึนามิใหญ่ ใส่นายเปรมชัย ทั้งผลกระทบในแง่ของชื่อเสียงที่เกิดขึ้น ถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนัก ยาวไปถึงชื่อบริษัทอิตาเลียนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ สวนทางกับกระแสชื่นชมหัวหน้าวิเชียร ที่ดำเนินการจับกุมในครั้งนี้ อย่างไม่สนใจว่า “ใครเป็นใคร” และทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา
คดีของนายเปรมชัย ยังไม่ได้จบเพียงแค่คดีเดียว หลังจากตำรวจบุกค้นบ้านพัก พบงาช้างจำนวน 4 กิ่งที่ไม่มีใบอนุญาตครอบครอง นำมาซึ่งการฟ้องร้องในเรื่องคดีงาช้างอีก 1 คดี
#เสือดำต้องไม่ตายฟรี กระแสที่โลกออนไลน์เรียกร้อง คนเบื้องหลังเร่งทำงาน
หลังจากการส่งฟ้องในวัน 6 ก.พ. นายเปรมชัยและพวก ได้ประกันตัวออกมาสู้คดีด้วยวงเงิน 1.5 แสนบาท ซึ่งศาลจังหวัดทองผาภูมิก็อนุญาต เกิดกระแสเรียกร้อง #เสือดำต้องไม่ตายฟรี เพราะหลายฝ่าย “กลัวหนี” และ กลัวข่าวเสือดำ “เงียบหายไป” เช่นเดียวกับคดีคนดังอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
แต่ตลอดเวลาในความจางหายไปของข่าว ล้วนแล้วแต่มีผู้ที่ยังคงทำงานอยู่เบื้องหลังหลายฝ่ายในการเร่งดำเนินการให้คดีลุลวงไป ก่อนที่หลักฐานหลายๆ อย่างจากเสื่อมสลายไปตามสภาพกาลเวลา
ตลอดเวลาที่เหลือของเดือน ก.พ. 2561 จนท.หลายส่วนลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสภาพจุดเกิดเหตุ การหาพยานวัตถุเพิ่มเติม กระบวนการทางด้านนิติวิทยาฯ ทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง
2 มี.ค. นายเปรมชัย และพวกเดินทางไปให้ปากคำครั้งแรก ที่ สภ.ทองผาภูมิ ก่อนวันที่ 13 มี.ค. 2561 จะดำเนินการสั่งฟ้องใน 9 ข้อหา
และข่าวก็เงียบหายไป ท่ามกลางเสียงร่ำลือต่างๆ นานา จนกระทั่ง 30 เม.ย. 2561 อัยการแถลงผลงานการสั่งฟ้อง นายเปรมชัย 6 ข้อหา ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ คนละ 5-8 ข้อหา
กระแสข่าวเงียบหายไป อีกครั้งท่ามกลางข่าวอื่นๆ หลังจากที่ทนายของนายเปรมชัย ยื่นคำร้อง ขอโอนคดีเสือดำไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากในข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนเจ้าหน้าที่
ซึ่งในคำร้องดังกล่าวนั้น ทำให้ต้องมีการวินิจฉัยว่า ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร ส่งผลให้คดีเงียบไปเกือบ 3 เดือน จนกระทั่ง 27 ส.ค. 2561 ประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า คดีเสือดำอยู่ในอำนาจศาลทองผาภูมิ นั่นทำให้สิ้นสุดการยื้อเวลาอีกต่อไป
ศาลทองผาภูมินัดวันสืบพยาน โจทย์-จำเลย ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2561 รวม 10 นัด โดยห้ามมิให้ทั้งสองฝ่าย นำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีออกมาเผยแพร่เด็ดขาด
เป็นกระแส อัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา จริง-เท็จ อย่างไร
ต้นเดือนเมษายน 2561 เป็นกระแสดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา จนทำให้หลายคนหัวร้อน บ่นอุบ แต่หากลองแกะทั้ง 5 ประเด็นอัยการไม่สั่งฟ้องคือ
- ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ร่วมกันมีเครื่องมือในการล่าสัตว์เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- ร่วมกันทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ประเด็นแรก ร่วมกันมีอาวุธและเครื่องกระสุน โดยไม่ได้รับอนุญาติ นั้นพบว่า ปืนที่พบในที่เกิดเหตุเป็น “ปืนมีทะเบียน” ทั้ง 3 กระบอก ดังนั้นหากอัยการปล่อยให้สั่งฟ้องในประเด็นนี้ นั่นย่อมเป็นช่องโหว่ให้แก่คดีนี้ได้
ประเด็นที่ 2 ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในประเด็นนี้ ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เนื่องจากนายเปรมชัยและพวก มีใบอนุญาตถูกต้อง เพื่อเข้าไปในพื้นที่เป็นใบผ่านทางแก่จนท. จนเป็นเหตุให้ไปก่อเหตุได้ ซึ่งหลายฝ่ายยืนยันตรงกันว่า “ไม่คิดว่า คนระดับนี้จะไปล่าสัตว์” ดังนั้น หาฟ้องในประเด็นนี้ ก็จะส่งผลให้นายเปรมชัยและพวก มีช่องหลุดรอดไปได้อีกเช่นกัน
ประเด็นที่ 3 และ 4 ร่วมกันมีเครื่องมือในการล่าสัตว์และ ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในประเด็นนี้ เป็นคำฟ้องนอกประเด็น เนื่องจากข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อความใดระบุไว้เช่นกัน ดังนั้น หากสั่งฟ้องในประเด็นนี้ เสมอกับการสั่งฟ้องโดยไม่มีข้อกฎหมายรับรอง และนั่นก็เป็นช่องให้หลุดได้อีกเช่นกัน
ประเด็นที่ 5 – ร่วมกันทารุณกรรมสัตว์ ในเคสนี้ หากเป็นการทารุณกรรมสัตว์ พนักงานสืบสวนจะต้องนำสืบให้ได้ว่า ทารุณที่ว่านั้น ทารุณอย่างไร การที่โซเซียลตื่นเต้นกับรอยกระสุน 5 รูนั้น ดูจะเป็นการตีความว่าทารุณไม่ได้ เนื่องจากกระสุนปืนที่ใช้เป็นกระสุนปืนลูกซอง ซึ่งในกระสุน 1 นัดที่ยิงออกไปนั้น ประกอบด้วยเม็ดหัวกระสุนอีกหลายเม็ดด้วยกัน ดังนั้นการมีรูกระสุนปืนหลายรูบนร่างของเสือดำ จึงเป็นเรื่องที่ “พิสูจน์ไม่ได้” ถึงการทารุณกรรมสัตว์ และหากดึงดันฟ้องในประเด็นเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดช่องโหว่ อีกเช่นกัน
ในช่องโหว่ที่เอ่ยมานั้น หากกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”
จากจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะเห็นได้ว่า หากเป็นคดีอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับอิสรภาพของจำเลย มีข้อยกเว้นในกรณีที่หากพยาน หลักฐาน หรือข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เกิดข้อสงสัยว่า จำเลย “อาจจะ” ไม่ได้กระทำผิด หรือ “ไม่อาจจะพิสูจน์จนสิ้นสงสัย” ได้ว่า จำเลยกระทำผิด ศาลสามารถตัดสิน “ยกฟ้อง” ได้
ดังนั้น การสั่งฟ้อง ใน 5 ประเด็นดังกล่าว จึงถือว่า เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้เกิด “ข้อสงสัย” ในข้อเท็จจริง เกิดความยากลำบากในการทำคดี และส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นการสั่งไม่ฟ้องถือเป็นเรื่องดีมากกว่าเสียนั่นเอง
เงียบไปอีก 3 เดือน ก่อนนัดสืบพยาน
ในระยะเวลาที่เว้นว่างไปนั้น ก็จะมีกระแส “เสือดำตายฟรี”, “คนรวยรอดคุก” อยู่โดยตลอด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วนั้น ในขั้นตอนของคดีจำเป็นที่จะต้องใช้เวลา-รอนัดต่างๆ พอสมควร
27 พ.ย. 2561 สืบพยานโจทย์ครั้งแรก หัวหน้าวิเชียร และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ขึ้นเบิกความครั้งแรก ซึ่งพยานโจทย์ทั้งหมดจำนวน 32 ปาก เพื่อให้คดีดำเนินการไปอย่างรัดกุม แน่นหนา โดยพยานโจทย์นั้นขึ้นให้เบิกความครบถ้วนทุกปาก
19 ธ.ค. 2561 นายเปรมชัย ขึ้นสืบพยานจำเลยเป็นปากแรก จากทั้งหมด 17 ปาก และวันนี้เอง เป็นวันที่ทนายจำเลยแจ้งลดจำนวนพยานลงเหลือเพียง 6 ปากเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว 26 ธ.ค. 2561 ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่า พยานปากที่เหลือนั้นไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงขอสืบพยานจำเลยเพียง 4 ปากเท่านั้น และประสงค์จะยื่นแถลงการณ์ปิดคดี
ศาลนัดฟังคำพิพากษา 19 มีนาคม 2562
คดีเสือดำ ช้า-ดึงเกม จริงหรือ?
ตลอดระยะเวลาการดำเนินการในคดีเสือดำ จนถึงวันพิพากษานั้น รวมระยะเวลากว่า 1 ปี หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่า คดีนี้ต้องการดึงเวลาให้หมดๆ ไปใช่หรือไม่ ทำไมคดีอื่นติดคุกเร็วมาก เป็นต้น ซึ่งในประเด็นของข้อกฎหมายนั้น หากย้อนคดีที่ใกล้เคียงกัน จะพบว่า จริงๆ แล้วคดีเสือดำ ถือว่าไม่ได้มีความล่าช้าแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ เช่น
1. คดี พ.ต.ท. และพวกร่วมล่าสัตว์แก่งกระจาน
คดีนี้เป็นการลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเดือน พ.ย. 2555 คดีนี้ดังขึ้นมาเนื่องจากมีชื่อของตำรวจระดับสารวัตรนายหนึ่งในก๊วนดังกล่าวด้วย ซึ่งต่อมา ในเดือนมิ.ย. 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรี ตัดสินยกฟ้อง พ.ต.ท. คนดังกล่าว
จนเป็นข่าวดังขึ้นอีกครั้ง จึงมีการยื่นอุทธรณ์ – ฎีกา กันตามลำดับ จนท้ายที่สุดแล้ว 31 ม.ค. 2560 คำพิพากษาฎีกายืนให้ “จำคุก” จำเลยตามศาลอุทธรณ์ ดังนั้นรวมระยะเวลาในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นราว 1 ปีครึ่ง รวมระยะเวลากว่า 5 ปี คดีถึงที่สุด
2. คดีหนุ่มซำแหละซากหมีควายเขาใหญ่
เป็นอีกหนึ่งคดีที่เกิดขึ้นในเดือนเดียวกันกับคดีเสือดำ จึงหลายคนยกมาเทียบกับ คดีเสือดำ ว่าทำไมผู้ต้องหาถูกขังอย่างรวดเร็ว ซึ่งในความต่างของคดีนี้กับเสือดำ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ จนท. เข้าจับกุมหนุ่มวัย 33 ปีพร้อมซากหมีควาย ที่ถูกชำแหละแล้ว หนักราว 80 กก. มีผู้ต้องหาที่หลบหนี อีก 2 ราย ก่อนเข้ามอบตัวในภายหลัง
ผู้ต้องหาทั้งหมดในรับสารภาพ และได้มีการฝากขังไว้ก่อน 1 รายที่จับได้ตั้งแต่วันแรก แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ก็ได้มีการอนุญาตให้ประกันตัวออกไปพร้อมผู้ต้องหารายที่ 2 ที่เข้ามอบตัว
ในคดีนี้ ผู้ต้องหา “ให้การรับสารภาพ” ในความผิดเรื่องของการชำแหละซากหมีจริง จึงมีการฝากขังไปก่อนนั่นเอง
3. คดีพรานล่าปลาคังในเขตทุ่งใหญ่ฯ
เป็นอีกหนึ่งคดีในมือของหัวหน้าวิเชียร เมื่อช่วงปลายปี 2561 เมื่อจนท.เข้าจับกุมกลุ่มพรานล่าปลาคัง-แข้ ในเขตพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯ จับผู้ต้องหาได้ 3 ราย
ซึ่งปัจจุบัน ผู้ต้องหา 1 รายได้รับการประกันตัว แต่อีก 2 รายที่เหลือ “ไม่มีผู้มาประกันตัว” จึงถูกนำไปฝากขังที่เรือนจำจังหวัดทองผาภูมิ
คดีนี้ ผู้ต้องหา “รับสารภาพ” และคดียังไม่สิ้นสุด
จาก 3 คดียกตัวอย่างมานั้น จะเห็นว่า คดีแรกกินเวลากว่า 5 ปี ถึงจะสิ้นสุด และคดีอื่นๆ มีการฝากขังได้ก่อน เนื่องจากผู้ต้องหาให้การ “รับสารภาพ” แตกต่างจากคดีเสือดำโดยสิ้นเชิงที่ ผู้ต้องหาปฎิเสธ และประกันตัวออกมา สู้คดี โดยใช้ช่อง “จำเลยไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ” มาเป็นประเด็น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูบันทึกการจับกุมแล้วจะเห็นว่า มีข้อมูลชัดเจนมากทีเดียวว่า เหตุการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร
19 มี.ค. 2562 – วันพิพากษา
ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีช่วงเวลาหลายช่วงที่ข่าวเงียบหายไปเป็นระยะๆ ตามขั้นตอนการดำเนินการของกฎหมาย ที่หลังจากคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ต่างฝ่ายก็ต้องหาทางมาสู้กัน ซึ่งนั่นทำให้ คดี “เงียบ” หายไปบ้างนั่นเอง
หลังจากผ่านการสอบพยานโจทก์-จำเลย มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายโจทก์ – จำเลย ก็ได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีนี้ ต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิเป็นทีเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการนัด “ฟังคำพิพากษา” 19 มี.ค. 2562 หรือราวๆ อีก 1 เดือนเศษ
แม้ว่า 19 มี.ค. นี้ อาจจะยังไม่ใช่ปลายทางของคดีที่แท้จริง เพราะยังเหลือศาลอุทธรณ์-ศาลฎีกา ที่ทางทีมงานค่อนข้างมั่นใจ คดีนี้ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม ถึงฎีกา อย่างแน่นอน
แต่อย่างน้อยก็จะเป็นข้อพิสูจน์อะไรบ้างอย่างให้กับสังคมไทย และเป็นบรรทัดฐานหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้กันต่อไป