เมื่อวันที่ 22 เมษายน 63 Times Higher Education ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ Time Higher Education Impact Ranking 2020 พบมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมและได้รับการจัดอันดับ 19 แห่ง
Times Higher Education ประกาศผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
นำโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จาก 760 สถาบัน ใน 85 ประเทศ ทั่วโลก ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDG ผ่านการประเมินตัวชี้วัดที่ได้รับการสอบเทียบอย่างรอบคอบ
โดยครอบคลุมตัวชี้วัดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในมิติการศึกษา การวิจัย การดำเนินงาน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของสาธารณะ
จุดเด่นของ มจธ.จากการประเมิน The Times Higher Educations Impact Ranking 2020
มจธ. เข้าร่วมในการส่งผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations) ใน 17 หัวข้อ ตามคำเชิญของ Times Higher Education ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วม 788 แห่งจาก 85 ประเทศ และ มจธ.ได้นำส่งผลงานปีนี้เป็นปีแรก และได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 101-200 ของโลก และเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยขอนแก่
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มจธ. มีจุดเด่นอยู่ที่ SDG เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production (แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย) และเป้าหมายที่ 6 Clean Water And Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) โดย SDG เป้าหมายที่ 12 ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยและการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยด้านการบริโภคและการผลิตยั่งยืน ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 81.4% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 26 ของโลก ในขณะที่ SDG เป้าหมายที่ 2 ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยด้านการขจัดความหิวโหย การเรียนการสอนหัวข้อความยั่งยืนด้านอาหาร ความมุ่งมั่นที่จะลดขยะเศษอาหาร และขจัดความหิวโหยในนักศึกษาและชุมชน ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 76.5% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 27 ของโลก และ SDG
เป้าหมายที่ 6 Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การใช้น้ำ และความมุ่งมั่นที่ให้ความมั่นใจว่าทำให้เกิดการจัดการน้ำที่ดีในชุมชนเป็นวงกว้าง ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 67.0% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 14 ของโลก ซึ่งถือได้ว่า การดำเนินงานของ มจธ.ในด้านการจัดการความยั่งยืนในสามเป้าหมายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นอยู่ในระดับดี ในขณะที่ SDG เป้าหมายที่ 17 Partnerships for The Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่งเป็นการวัดผลด้านการสนับสนุน SDG โดยผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ และมีผลงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี และได้รับการตีพิมพ์ ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 70.7-80.6% ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับที่ 101-200 ของโลก นอกจากนั้นในSDG อีก 13 เป้าหมายที่เหลือ มจธ. ได้มีการดำเนินการและเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกหัวข้อ”
มุมมองคนรุ่นใหม่ต่อความยั่งยืน
นายศิวกร จิตร์ถาวรมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. หนึ่งในแกนนำนักศึกษากลุ่ม GREEN HEART มจธ. ที่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ความยั่งยืนที่ดีที่สุดคือความยั่งยืนในหัวใจของทุกคน พวกเราจึงเรียนรู้ และส่งต่อคุณค่าของหัวใจสีเขียว (GREEN HEART) ให้กับเพื่อนพี่น้องและชุมชน เพื่อสร้างสังคมสีเขียวที่ยั่งยืน เพราะโลกแห่งอนาคต คือโลกที่ต้องการความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน”