กกต เลือกตัั้ง62

รวมมิตร กกต. และข้อควรรู้ หลังการเลือกตั้งล่วงหน้า

การเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนาคม ผ่านพ้นไปพร้อมๆ กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของหน่วยงานอย่าง กกต. ทีมข่าว MThai รวมรวมมานำเสนอ พร้อมข้อควรรู้ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 1. กาๆ…

Home / NEWS / รวมมิตร กกต. และข้อควรรู้ หลังการเลือกตั้งล่วงหน้า

การเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนาคม ผ่านพ้นไปพร้อมๆ กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของหน่วยงานอย่าง กกต. ทีมข่าว MThai รวมรวมมานำเสนอ พร้อมข้อควรรู้ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม

1. กาๆ ไปเถอะ

การแจกบัตรผิดเขต เป็นประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้น และมีรายงานอย่างกว้างขวางในสื่อออนไลน์ อย่างเช่นผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเขียนเล่าเหตุการณ์ว่า เธอได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับเขตที่เธอมีสิทธิ พอท้วงเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กลับบอกว่า ให้ “กาๆ ไปเถอะ” ซึ่งสุดท้ายแล้วบัตรของเธอกลายเป็นบัตรเสีย ทำให้เสียคะแนนไปโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง

เหตุการณ์เช่นนี้ เว็บไซต์ iLaw ซึ่งเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยผลความเสียหาย สันนิษฐานว่า อาจไม่ได้เกิดจากการจงใจทุจริตระดับนโยบาย แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ‘ส่วนน้อย’ ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมที่ดีพอจาก กกต. ว่าแต่ละเขตจะต้องใช้บัตรเลือกตั้งไม่เหมือนกัน

ข้อควรรู้
ระบบการเลือกครั้งนี้ให้แต่ละเขตผู้สมัครจากแต่ละพรรคได้หมายเลขไม่ซ้ำกัน ทำให้บัตรเลือกตั้งของแต่ละเขตใช้ด้วยกันไม่ได้ ต้องพิมพ์ขึ้นเฉพาะสำหรับของแต่ละเขต กรณีแจกบัตรผิดเขต กกต. บอกว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำเรื่องนี้มาร้องเรียนต่อ กกต.ได้ในภายหลัง คำถามคือ ในเมื่อเสียสิทธิไปแล้ว จะรับผิดชอบอย่างไร?

2. ขออภัยในความผิดพลาด คนมาใช้สิทธิเยอะกว่าที่คิด

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวยอมรับความผิดพลาด และขออภัยต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้า “ถ้าเกิดผิดพลาดอะไรก็ขออภัยแทน กกต. เขตด้วย เพราะว่าตัวเลขที่คาดคิดไว้ไม่ถึงขนาดนี้…”

คำถามของหลายๆ คนที่ตามมาคือ ทำไมจึงบอกว่ามีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่าตัวเลขที่คาด เพราะในเมื่อเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าแล้ว ควรจะเตรียมการรองรับให้พร้อม และบางความเห็นบอกว่า การกล่าวว่า หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนั้น ดูเหมือนจะเป็นวิสัยของงานบวชงานแต่งมากกว่า

เปิดสถิติเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง
ปี 2554 ลงทะเบียน 2,647,330 คน มาใช้สิทธิ 1,473,660 คน คิดเป็น 55.67%
ปี 2562 ลงทะเบียน 2,632,935 คน มาใช้สิทธิ 2,287,574 คน คิดเป็น 86.98%

ลงทะเบียนล่วงหน้าแต่ไม่ไปใช้สิทธิ จะเกิดอะไรขึ้น?
ผู้ที่ขอลงทะเบียนไว้แต่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 24 มีนาคมได้ แต่หากต้องการรักษาสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแจ้งเหตุจำเป็นไม่ไปใช้สิทธิ เพื่อยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่นได้ ภายในก่อนและหลัง 7 วันของวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งจะทำให้ไม่ถูกจำกัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปี

3. ระบุพบการทุจริตผิดจังหวัด!

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการ กกต. แถลงถึงภาพรวมการเลือกตั้งล่วงหน้า พบการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง 3 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ใช้สิทธิ์แอบเอาสมุดบัตรเลือกตั้งทั้งเล่มไปกาลงคะแนนให้ผู้สมัครพรรคหนึ่ง, จังหวัดอุทัยธานี มีการนำบัตรประชาชนผู้มีสิทธิไปลงคะแนนแทน, จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้สมัครพรรคหนึ่ง ทำเอกสารปลอม ที่ผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร แต่พบมีการติดป้ายหาเสียง

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีจังหวัดสมุทรสาคร ทาง กกต. สมุทรสาคร ได้ออกมาชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่สมุทรสาคร แต่เป็นจังหวัดสมุทรสงครามต่างหาก

โทษทั้งจำทั้งปรับ อย่าทำในคูหาเลือกตั้ง

1. ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

2. ใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนกล่องเลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับ 20,000 – 200,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

3. นำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

4. จงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

5. สวมสิทธิ์ แอบลงชื่อแทนคนอื่น หรือเอาบัตรของคนอื่นมาลงคะแนน โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

6. ขัดขวางไม่ให้คนไปเลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

7. โชว์บัตรของตัวเองที่ลงคะแนนแล้วให้คนอื่นดู จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000บาท

8. รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

9. ทำบัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

10. ขายเหล้าในเขตเลือกตั้ง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

11. พนันผลเลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่นพนัน

4. เอาบัตรมามัดรวมกัน เพราะขนทั้งหีบจะเสียเวลาและเปลืองงบ?

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ภาพเจ้าหน้าที่ กกต.และตำรวจ เปิดหีบบัตรแล้วนำมามัดรวมกัน จนหลายคนสงสัยในการกระทำ และเกรงว่าจะเกิดการทุจริต ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ กกต. ต้องทำ เพราะหากขนหีบบัตรมาจะเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ ดังนั้นจึงต้องคัดแยกแล้วนำมาใส่ถุง เพื่อส่งไปรษณีย์ไปตามจังหวัดต่างๆ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตอาจมีการเปลี่ยนบัตรนั้น ยืนยันว่าทำได้ยาก เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงแล้ว เป็นไปตามระเบียบของ กกต. 2562 ข้อ 182 ที่ระบุว่า ให้คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด เปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส.39) แล้วบรรจุในถุงพลาสติกใส และเขียนบัญชีจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.43 และให้บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด หรือผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายมารับซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส.39) เพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามที่ระบุไว้หน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส.39)

ทราบหรือไม่? หากบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าไปถึงสถานที่นับไม่ทันเวลาเริ่มนับคะแนน ถือถือเป็นบัตรเสีย

กรณีนี้ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เป็นบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เช่น เหตุขัดข้องทางการบิน ที่ผ่านมามีไม่มาก โดย กกต. จะใช้ศูนย์ไปรษณีย์เขตหลักสี่ เป็นศูนย์ปฏิบัติการการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร และจะทำการส่งมอบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าคืนพื้นที่หน่วยเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งปกติ อย่างช้าภายในวันที่ 22-23 มี.ค.2562

5. ทำไมไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ?

ข้อความในทวิตเตอร์ของผู้ใช้อีกรายหนึ่ง คือ นายธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แสดงความกังวลถึงการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในบัตรเลือกตั้งว่า อาจง่ายต่อการสับเปลี่ยน โดยระบุว่า

“เลือกตั้งรอบนี้ ไม่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือของเราลงไปที่บัตรเลือกตั้งครับ นั่นหมายความว่าไม่มีอะไรเป็นหลักฐานว่าเป็นบัตรของเรา และง่ายต่อการถูกสับเปลี่ยนบัตรเป็นอย่างมาก อาจมีการเอาบัตรที่เลือกวันนี้ออก แล้วใส่บัตรที่เลือกลุงเข้าไปแทนที่ก็ได้”

เรื่องนี้นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ตามกฎหมายจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเซ็นชื่อที่ต้นขั้วบัตร เว้นแต่พิการ เขียนหนังสือไม่เป็นจึงจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่กรณีออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กกต.ขณะนั้นใช้เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นกิมมิกหรือจุดขายเพื่อเชิญคนออกมาออกเสียงประชามติ โดยต้นขั้วบัตรที่มีลายนิ้วมือหรือลายเซ็นต์จะถูกส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบกรณีที่มีปัญหา แต่ปกติในการเลือกตั้งการให้เซ็นต์ที่ต้นขั้วอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการยืนยันตัวตนการมาใช้สิทธิ เพราะการเซ็นต์ชื่อสามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกับลายนิ้วมือ

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวา และหากไม่มีนิ้วหัวแม่มือขวาให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือซ้าย ถ้าไม่มีนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างให้พิมพ์ลายนิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่งแทน หากไม่มีนิ้วมืออยู่เลยให้ได้รับการยกเว้นและให้กรรมการ ประจำหน่วยเลือกตั้งหมายเหตุว่าไม่มีนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

6. ไม่ได้เลือกตั้งมานาน ก็เลยงงๆ

วาทะนี้เป็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า คิดเห็นอย่างไรกับการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากท้วงติงการทำหน้าที่ของ กกต. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อผิดพลาดก็ต้องแก้ไขกันไป เพราะใหม่ด้วยกันทั้งนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา เราว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน เจ้าหน้าที่ก็อาจจะงงๆ ประชาชนก็ยังงงอยู่ด้วยเหมือนกัน

ทราบหรือไม่ว่า เราว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานานเท่าไหร่?
คำตอบคือ 7 ปี ซึ่ง วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 คือครั้งหลังสุดที่คนไทยได้ใช้สิทธิใช้เสียงในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้อายุ 18 ปีบริบูรณ์ยังไม่เคยมีโอกาสเลือกตั้งเลย ฉะนั้น อย่ามัวแต่งง และออกไปใช้สิทธิของเรากันให้เยอะๆ ในวันที่ 24 มีนาคมนี้