กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 16 เตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนวันนี้ ส่งผลกระทบ 23 จังหวัด
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบถึงวันที่ 19 มีนาคม 2562 ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2562 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย โดยมีผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้
ภาคเหนือ : จังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคกลาง : จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าปกคลุมภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและประเทศลาว ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ข้อครวรู้ : การเตรียมการรับมือและการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน
สิ่งที่ควรทำก่อนพายุจะมา
- ติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศทางวิทยุหรือโทรทัศน์
- รวบรวมและเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อม
- ประเมินระดับความปลอดภัยของบ้านท่านรวมทั้งโรงรถและต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
- เรียนรู้แผนฉุกเฉินประจำสถานที่เช่น สถานที่ทำงานของท่านหรือที่โรงเรียนหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก
- ขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ของท่านในการดูแลสัตว์เลี้ยงในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ค้นหาว่าผู้ใดในหมู่บ้านของท่านที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น คนชรา คนพิการหรือเพื่อนบ้านที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เป็นต้น
- เรียนรู้วิธีใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากผู้ขายหรือหนังสือคู่มือในกรณีที่ท่านมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนตัว
สิ่งที่ควรทำในระหว่างเกิดพายุ
- อย่าตกใจ ปกป้องตนเองให้ปลอดภัยและช่วยเหลือผู้อื่น
- ปิดเตาขณะทำอาหารเมื่อไฟฟ้าดับและปิดอุปกรณ์ที่ใช้แก๊สทุกชนิด
- ถ้าท่านอยู่ในบ้านหรือในอาคาร จงเคลื่อนตัวให้ห่างหน้าต่างหรือวัตถุอื่นๆ ที่อาจหล่นลงมาโดนท่านและควรลงไปอยู่ชั้นล่างของบ้านหรือของอาคาร
- ถ้าท่านอยู่นอกบ้าน ควรเข้าไปอยู่ในบ้านหรืออาคาร หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สายไฟฟ้าที่ขาดเสาไฟฟ้าและต้นไม้
- ถ้าท่านกำลังขับขี่ ควรจอดรถ และหยุดในบริเวณที่ห่างจากต้นไม้ ถ้าเป็นไปได้จงวิ่งเข้าไปอยู่ในอาคารที่ปลอดภัย จงอยู่ห่างจากสะพานลอยเสาไฟฟ้าและสิ่งอันตรายอื่นๆ
- จงรับฟังข่าวสารทางวิทยุเพื่อที่จะได้ปฏิบัติตาม
ที่มา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ