ฝุ่นละออง PM2.5

ร้องถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ชี้บั่นทอนสิ่งแวดล้อม ซ้ำเติมปัญหาฝุ่นพิษ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) จัดแถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ชี้หากมีผลบังคับใช้ ปัญหามลพิษในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้น…

Home / NEWS / ร้องถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ชี้บั่นทอนสิ่งแวดล้อม ซ้ำเติมปัญหาฝุ่นพิษ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) จัดแถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ชี้หากมีผลบังคับใช้ ปัญหามลพิษในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้น

วันนี้ (31 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับบั่นทอนสิ่งแวดล้อม เรียก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหากมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ทั้งนี้ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง เผยว่า ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อการลดทอนมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกัน และการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นแต่เพียงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง สำหรับ เหตุผลข้อห่วงกังวลสำคัญ ได้แก่ 

1) การแก้ไขนิยามของคำว่า “โรงงาน” และ “การตั้งโรงงาน” ทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้ ก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

2) การแก้ไขนิยามของคำว่า “โรงงาน” และ “การตั้งโรงงาน” ทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน

3) การแก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ ทำให้กระบวนการต่ออายุใบอนุญาตซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพโรงงานถูกยกเลิกไป

4) การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันภัย เพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

5) การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน จะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจรับรองสภาพโรงงาน

6) บทลงโทษโรงงานที่กระทำผิดยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะสามารถป้องปรามการกระทำผิดหรือทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ จะเป็นการซ้ำเติมปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 จะแก้ไขได้ยากขึ้นในอนาคต จึงอยากให้ระงับการพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว