คดีฆ่าเสือดำ คดีเปรมชัย เปรมชัย กรรณสูต เสือดาว เสือดำ

‘เสือดำ’ สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ถูกพูดถึงในรอบ 1 ปี จาก ‘คดีเปรมชัย’

เสียงปืนดัง ปัง!! สนั่นกลางทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก คมกระสุนปลิดชีพสัตว์ป่าคุ้มครองอย่าง ‘เสือดำ‘ นอนแน่นิ่ง เหลือไว้เพียงแต่ซากเสือดำที่ไร้วิญญาณ มิหน่ำซ้ำยังถูกล่านักล่าสัตว์ชำแหละเนื้อ ถลกหนัง แยกหัวเสือดำไว้ให้ดูต่างหน้า ใช่แล้วครับ… เรากำลังพูดถึงกรณีข่าวดังที่นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย…

Home / NEWS / ‘เสือดำ’ สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ถูกพูดถึงในรอบ 1 ปี จาก ‘คดีเปรมชัย’

เสียงปืนดัง ปัง!! สนั่นกลางทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก คมกระสุนปลิดชีพสัตว์ป่าคุ้มครองอย่าง ‘เสือดำ‘ นอนแน่นิ่ง เหลือไว้เพียงแต่ซากเสือดำที่ไร้วิญญาณ มิหน่ำซ้ำยังถูกล่านักล่าสัตว์ชำแหละเนื้อ ถลกหนัง แยกหัวเสือดำไว้ให้ดูต่างหน้า

ใช่แล้วครับ… เรากำลังพูดถึงกรณีข่าวดังที่นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมตัวได้เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้เมื่อวันที่ (4 ก.พ.61)

การจับกุมในครั้งนั้นนอกจากซาก ‘เสือดำ’ แล้ว ยังพบซากไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง และอาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุนเป็นจำนวนมาก

ข่าวการฆ่าเสือดำกลายเป็นที่พูดถึงในสังคมตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงาน ทั้งองค์กรต่างๆ ภาคประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา กระทั่งผู้ที่เกี่ยวข้องจากเหตุล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่ฯ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

และวันที่ 19 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูตร จำเลยที่ 1 รวม 16 เดือน แบ่งเป็นข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาติ จำคุก 6 เดือน ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน ต่อมาทางศาลให้ประกันตัว นายเปรมชัย กรรณสูต  โดยมีหลักทรัพย์ประกัน 4 แสนบาท พร้อมสั่งห้ามออกนอกประเทศ

วันนี้ MThaiNews จึงขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เสือดำ’ ถึงความเป็นมา พร้อมสถานภาพปัจจุบัน มาให้ผู้อ่านได้รับชมกัน โดยในประเทศไทยยังมีสัตว์ตระกูลแมวอาศัยอยู่ในผืนป่า 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง, เสือดาวและเสือดำ (ชนิดเดียวกัน), เสือลายเมฆ, เสือไฟ, เสือปลา, เสือกระต่าย, แมวป่าหัวแบน, แมวลายหินอ่อน และแมวดาว

ภาพจาก มูลนิธิสืบฯ

 

ทำไมจึงเรียกว่า ‘เสือดำ’ ?

เสือดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Leopard Pantherapardus ‘เสือดาว’ กับ ‘เสือดำ’ คือชนิดเดียวกัน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เป็นเสือขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่ง (Panthera tigris) โดยเสือดาวบางตัวเกิดความผิดปกติของเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิซึม (Melanism) ทำให้ขนมีสีดำ แต่ยังมีลายหรือจุดคงอยู่เรียกว่า ‘เสือดำ’ แต่จะสังเกตเห็นได้ยาก จะเห็นได้ชัดเจนเมื่ออยู่ในแสงแดด

‘เสือดำ’ สามารถปรับตัวและอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมหลายประเภท ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และพื้นที่โล่ง อาหาร อาหารของเสือดาวคือเหยื่อทุกชนิดที่สามารถจับได้ ได้แก่ กวางป่า เก้ง ลิง ชะมด หมูป่า นกยูง นกกระทา และสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด บางครั้งก็กินแมลงด้วย

อุปนิสัย เสือดาวสามารถอาศัยได้ในป่าหลายสภาพ มีอาณาเขตหากินประมาณ 9-37 ตารางกิโลเมตร ออกล่าเหยื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ล่าเหยื่อโดยการไล่ล่าและการดักซุ่มรอเหยื่อตามด่านสัตว์หรือตามโป่ง เมื่อล่าเหยื่อได้จะเริ่มกินบริเวณท้องและซี่โตรงก่อน ปกติจะหากินตามลำพังยกเว้นในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน

โดยตัวเมียจะตั้งท้องนาน 90-105 วัน ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว เมื่อมีอายุ 2 ปี จะเริ่มออกหากินตามลำพัง มีอายุเฉลี่ย 12-15 ปี ทั้งนี้เสือดำในประเทศไทย จากการสำรวจพบว่ามีการกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 7 กลุ่มป่า 27 พื้นที่อนุรักษ์

สถานภาพตามกฎหมาย ของ ‘เสือดำ’

จัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 CITES: Appendix I

ไซเตส (CITES)

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES) มีเป้าหมายคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม ทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ ไซเตสไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (Native Species)

การค้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export) โดยชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุม จะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1, 2, 3 (Appendix I, II, III) ของอนุสัญญา

Appendix I คืออะไร?

Appendix I เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย

ตัวอย่างของสัตว์ป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ แพนด้าแดง กอริลลา ชิมแปนซี เสือ สิงโตอินเดีย เสือดาว เสือจากัวร์ เสือชีตาห์ ช้างเอเชีย ช้างแอฟริกา พะยูนและแมนนาที สกุลแรด ปลาตะพัด ปลายี่สก เป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบัน บัญชีแดงของ IUCN 2016 ยังจัดให้ ‘เสือดาว’ และ ‘เสือดำ’ อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าและการบุกรุกผืนป่า

ปัญหาการล่าสัตว์ป่าต้องค่อยๆหมดไป ถ้าทุกฝ่ายสร้างจิตสำนึก พร้อมร่วมกันรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด สำหรับกลุ่มคนที่ฝ่าฝืน จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้มากยิ่งขึ้น ทุกชีวิตย่อมมีค่า “มนุษย์ย่อมรักชีวิตตัวเอง แล้วนับประสาอะไรกับสัตว์ที่มีหัวจิตหัวใจ ที่มันก็ต้องรักตัวของมันเองเช่นกัน”