นักวิจัยไทย ประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ แบบเคลื่อนย้ายได้ ส่งมอบให้กับรพ.พระมงกุฎเกล้า เคลื่อนย้ายง่าย มีประสิทธิภาพสูง และช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อโควิด-19
ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit ลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์
ทีมนักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit ซึ่งเป็นเครื่องแบบเคลื่อนย้ายได้สามารถติดตั้งได้กับทุกเตียงในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์
ขณะทำหัตถการ ทางกลุ่มได้ส่งมอบแล้วให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 เครื่อง ผลงานประดิษฐ์ฝีมือของนักวิจัยไทยที่รวมกลุ่มกันของกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ดร. ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ทีมมดอาสา มจธ. เปิดเผยว่า อุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากคุณไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และคุณธเนศ นะธิศรี และการรวมกลุ่มกันของนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันทำผลงานต้นแบบ จากนั้นจึงได้มาเริ่มทำเครื่องความดันลบที่มีโรงพยาบาลต่าง ๆ ติดต่อขอการสนับสนุนเข้ามาจำนวนมาก และขณะนี้ยังขาดแคลน
เครื่องความดันลบมีการทำงานของเครื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ
ส่วนที่ 1 Operating Chamber Unit
โครงสร้างกล่องทำจากสเตนเลส (Stainless Steel) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม กล่องโดยรอบทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต สามารถมองเห็นผู้ป่วยด้านในได้ ทำความสะอาดง่ายทั้งจากภายในและภายนอก น้ำหนักน้อยลงยกด้วยคน 2 คนก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ ด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบนฝั่งศรีษะผู้ป่วย 2 ช่อง ออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเข้าไปด้านในเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทั้งสองด้าน ทุกช่องมีแผ่นปิด-เปิด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและการออกแบบที่มีความลาดเอียง 45 องศา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นจากมุมสูงด้วย และกล่อง chamber ถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มแนวตั้งที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยในเตียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและไม่อึดอัดมาก หากเทียบกับแบบครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมที่มีทั่วไปในต่างประเทศ ด้านบนมีช่องสำหรับติดตั้งระบบ negative pressure ventilation unit ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบได้ง่าย และล็อคเข้ากับโครงอะลูมิเนียม
ส่วนที่ 2 Negative pressure ventilation unit with HEPA filtration and UVC germicidal treatment
มีหลักการทำงานเหมือนคลีนรูมขนาดเล็ก คือการใช้พัดลมความเร็วสูงดูดอากาศภายใน chamber ออก ผ่านการกรองด้วย HEPA filter เพื่อกรองแบคทีเรีย จากนั้นอากาศจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบรังสีจากแสง UVC ก่อนจะปล่อยออกไปภายนอก และจะบังคับให้อากาศใหม่ที่สะอาดจากด้านนอก ผ่านเข้ามาโดยช่องว่างเล็กๆ ในความเร็วสูง เพื่อหมุนเวียนภายใน chamber ซึ่งจะทำให้คุณภาพอากาศในห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ปลอดภัยขึ้น และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยร่วมห้อง รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ต้นทุนในการผลิตต่อเครื่อง 60,000 บาท
เครื่องความดันลบนี้ต้นทุนในการผลิตต่อเครื่อง 60,000 บาท หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาหลักแสนหรือหลักล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบให้กับ รพ.พระมงกุฎเกล้า แล้วจำนวน 2 เครื่อง และอยู่ระหว่างส่งมอบให้กับ รพ.ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 เครื่อง
โครงสร้าง แผ่นหลักมีแค่ 3 ชิ้น ทำให้การผลิตและประกอบเร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคเงินสามารถสมทบทุนได้ทาง บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ERIG กองทุนวิจัยพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ โดย นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ เลขที่บัญชี 678-1-95529-2 หรือจะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเช่น แผ่นโพลิคาร์บอเนต หรือขอความรู้กลุ่มจิตอาสายินดีเผยแพร่องค์ความรู้สามารถติดต่อ ดร. ปริเวท วรรณโกวิท ได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 089-866-5958 เฟซบุ๊ก Pariwate Varnakovida หรือ อีเมล pariwate@gmail.com