ข่าวสดวันนี้ ทุนเรียนต่อต่างประเทศ บรรยายฟรีตอบแทนภาษี

Exclusive: จากผู้ “บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” สู่ 3 รางวัลระดับนานาชาติ

“บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมืองใด หากแต่เป็นโครงการหนึ่งของ ‘ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ’ ดร.หนุ่มจากแดนอีสาน ซึ่งไม่ใช่ ดร.ผู้เรียนจบในระดับปริญญาเอกทั่วไป แต่มีประวัติในด้านการเรียนและการทำงานที่ไม่ธรรมดา. เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ประเทศไทย มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณงามความดี และเป็นผู้ที่เป็นแรงบรรดาลใจให้เด็ก ๆ อีกมากมายที่อยากประสบความสำเร็จในด้านการเรียน…

Home / NEWS / Exclusive: จากผู้ “บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” สู่ 3 รางวัลระดับนานาชาติ

“บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมืองใด หากแต่เป็นโครงการหนึ่งของ ‘ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ’ ดร.หนุ่มจากแดนอีสาน ซึ่งไม่ใช่ ดร.ผู้เรียนจบในระดับปริญญาเอกทั่วไป แต่มีประวัติในด้านการเรียนและการทำงานที่ไม่ธรรมดา.

เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ประเทศไทย มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณงามความดี และเป็นผู้ที่เป็นแรงบรรดาลใจให้เด็ก ๆ อีกมากมายที่อยากประสบความสำเร็จในด้านการเรียน และการทำงาน และสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วยการคว้ารางวัลในระดับนานาชาติกว่า 3 รางวัล ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ
ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ

นอกจากนี้เขาผู้นั้นยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการบรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ดี ๆ รวมถึงการสร้างแรงบรรดาลใจให้กับเยาวชน ในมหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานต่าง ๆ กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ วันนี้ MThai ได้พูดคุยกับ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ หรืออาจารย์หนุ่ม นักวิชาการวัย 30 ปี ผู้สร้างแรงบรรดาลใจ และมีปณิธานแน่วแน่ในการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้อื่นรวมถึงได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย

ประวัติการเรียนไม่ธรรมดา

จากบัณฑิตเกียรตินิยม คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงด้วยตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ดร.ปิยณัฐ ชายหนุ่มจากจังหวัดอุบลราชธานี ผู้มีความสนใจด้านนโยบายต่างประเทศอินเดียเป็นทุนเดิม ได้ขอทุนรัฐบาลอินเดีย ซี่งเป็นทุนให้เปล่าภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคาของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอุสมาเนีย ณ เมืองไฮเดอราบาด สาธารณรัฐอินเดีย โดยดร.ปิยณัฐ ได้รับทุนดังกล่าว และประสบความสำเร็จทางการเรียน โดยมีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม

หลังจากเรียนจบปริญญาโทจากประเทศอินเดีย ดร.ปิยณัฐได้สอบชิงทุนเรียนดีทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทุนรัฐบาลไทยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อไปศึกษาระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งคว้ารางวัลงานวิจัยยอดเยี่ยมทางสังคมศาสตร์จาก Anglo-Thai Society และสำเร็จการศึกษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา

เริ่มทำงานเพื่อสังคม ตอบแทนภาษีประชาชน

ดร.ปิยณัฐเล่าว่าตนมีความตั้งใจหลังเรียนจบ คือการจัดตั้งโครงการ “บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” จากพื้นฐานของการเป็นนักเรียนทุนที่ทำให้มีความเชื่อว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ทำให้ตนได้มีโอกาสไปศึกษาคือภาษีที่คนไทยได้มอบให้ ดังนั้นเมื่อได้รับโอกาสและทำสำเร็จแล้ว จึงอยากสร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้กับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

โครงการนี้เริ่มจากจุดเล็กๆ ผ่านหน้าวอลล์ Facebook ส่วนตัวของ ดร.ปิยณัฐ โดยเริ่มจากการโพสต์ข้อความขอโอกาสไปเล่าเรื่องราว แบ่งปันประสบการณ์การขอทุนการศึกษาจากทั่วโลก และถ่ายทอดความรู้ที่ค้นพบจากวิทยานิพนธ์ ให้แก่หน่วยงานที่สนใจจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อตอบแทนเม็ดเงินและภาษีของประชาชน ที่สนับสนุนตนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก

จากโพสต์เล็ก ๆ ครั้งทำได้เกิดสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะไม่ใช่หน่วยงานแค่ 10 แห่งที่ ดร.ปิยณัฐ ได้เดินทางไปส่งต่อความรู้ แต่ยังได้เดินทางไปบรรยายให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานต่าง ๆ กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณพัทลุง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยะลาและปัตตานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น

“บรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชน” โดย’ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ’

นอกจากนี้ ดร.ปิยณัฐยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์การหาทุนการศึกษาและการเรียนต่อต่างประเทศ ให้กับน้อง ๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการอุบลราชธานี โรงเรียนวิเชียรมาตุ จ.ตรัง โรงเรียนสารสาสน์วิเทศ ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งหากนับยอดรวมๆทั้งหมด น่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้รับชมทางการถ่ายทอดสดมากกว่า 10,000 คน

ดร.ปิยณัฐ เล่าด้วยว่า นอกจากตนจะเป็นผู้ให้แล้ว สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับการเดินทางทั่วประเทศในกิจกรรมนี้ คือการได้รู้จักประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น การเดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ตนได้ศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละพื้นถิ่น ได้ศึกษาความคิด ความเชื่อหรือแม้กระทั่งความเห็นที่อธิบายถึงพลวัตที่เกิดขึ้นในสังคมของแต่ละภูมิภาค อีกทั้งทำให้ตนได้เห็นข้อจำกัดและช่องว่างของการพัฒนาทั้งในเชิงโครงสร้างขั้นพื้นฐานและคุณภาพชีวิตมนุษย์ซี่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจกระบวนการออกนโยบายสาธารณะ

ที่มาคำนำหน้า ‘อาจารย์’

เมื่อถึงเวลาใช้ทุนตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทย ดร.ปิยณัฐเลือกที่จะกลับมาเริ่มชีวิตการสอน ในตำแหน่งอาจารย์ ประสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนตามที่ได้ตั้งใจ

การเป็นอาจารย์ ทำให้ตนได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแบ่งปันสิ่งที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้ นำมาบอกเล่าและแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาในหลายรายวิชา เช่น วิชาการเมืองเปรียบเทียบ วิชาว่าด้วยการเมืองภาคประชาชน วิชาความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์ วิชาการเมืองอีสาน และวิชาอินเดียร่วมสมัย

นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ตนก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากมาย

ผู้ให้ความรู้ผ่านบทบาท ‘วิทยากร’

อีกหนึ่งบทบาทของอาจาย์หนุ่มวิทยากรและบรรยายให้กับหน่วยงานราชการ สถานศึกษาและภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ในหลายประเด็น เช่น การกระจายอำนาจ การสร้างสันติและแก้ไขความขัดแย้ง พัฒนาการประชาธิปไตย นโยบายและแผนพัฒนาสาธารณสุข รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย

สร้างชื่อให้ชาวไทยคว้า 3 รางวัลระดับนานาชาติในเวลาเพียง 2 เดือน

เพียงช่วงระยะเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2562 ที่ผ่านมา ดร.ปิยณัฐ ได้รับรางวัลกว่า 3 รางวัลในระดับนานาชาติ เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2562 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 25 ผู้นำรุ่นใหม่ (Young Leader 2019) จากที่ประชุมแห่งแปซิฟิก  ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศด้านการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก

ในเดือนถัดมาได้เข้าร่วมการประชุมหุ้นส่วนความร่วมมือสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Partnership Forum) และได้สนทนากับนักการทูตระดับสูงของสำนักผู้แทนทางการทูตสหรัฐอเมริกาประจำอาเซียน และเข้าพบรองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาคมสังคมวัฒนธรรม ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ต้า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

จากนั้น ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงการต่างประเทศอินเดียร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และมูลนิธิอินเดียมอบโล่รางวัลคนรุ่นใหม่แห่งอินเดียอาเซียน (ASEAN-India Youth Award) ซึ่ง ดร.ปิยณัฐ เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ในการประชุมสุดยอดคนรุ่นใหม่แห่งอาเซียนอินเดีย (ASEAN India Youth Summit) ณ เมืองกุวาฮาตี สาธารณรัฐอินเดีย โดยรางวัลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่าง 2 ภูมิภาคเป็นเวลานับ 10 ปี

 

และล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.ปิยณัฐ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่ได้รับโล่รางวัลยอดเยี่ยมด้านการศึกษา (Best Literature Award) จากผลงานการอุทิศตนเพื่อส่งเสริมการศึกษาและเยาวชน ในการประชุม GTF World Summit 2019 Bangkok โดยการเสนอชื่อของสำนักข่าวอินโด-ไทยนิวส์ ซึ่งส่วนหนึ่งของรางวัลมาจากกิจกรรมบรรยายฟรีตอบแทนภาษีประชาชนที่ได้มีโอกาสริเริ่มงานเขียนทางวิชาการเพื่อสานความสัมพันธ์อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลักที่ไปสู่ความสำเร็จ ของอาจารย์หนุ่ม ที่ชื่อ ‘หนุ่ม’

อย่างไรก็ตาม ดร.ปิยณัฐ กล่าวทั้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จนั้น ความรู้ให้เร็วที่สุด ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร และอยากตื่นขึ้นมาในแต่ละวันเพื่ออะไร รวมถึงอย่าลืมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า เราอยู่ในยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และหลายครั้งความทันสมัยทำให้คนรุ่นใหม่ก้าวไปได้ไกลกว่าในเชิงความคิด ซึ่งตนอยากให้พวกเราดึงตัวเองให้ช้าลงสักนิด เพราะในสังคมมีคนในหลายๆช่วงวัย และแต่ละช่วงวัยถูกบ่มเพาะและให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ควรวิ่งเข้าหาโอกาสอยู่เสมอ และต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเพื่อไปให้ถึงโอกาสนั้น พร้อม ๆ ไปกันการสร้างแบรนด์ ให้กับตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ทักษะที่คนรุ่นใหม่ควรจะมีมากที่สุด คือทักษะการเลือก ทั้งเลือกจะทำหรือเลือกจะไม่ทำ และยอมรับต่อต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการตัดสินใจดังกล่าว.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจาะลึก การศึกษาเมืองแขก เด็กไทยเรียน โท-เอก ที่อินเดีย พร้อมขั้นตอนการ ‘ขอทุนฟรี’