หน้ากากอนามัย

กรมวิทย์ฯ ย้ำ ‘ทิชชู’ ไม่เหมาะสม นำทำหน้ากากอนามัย

ดร.ภูวดี ตู้จินดา หัวหน้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติและเส้นใย และโฆษกกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากข้อมูลสื่อออนไลน์มีการแชร์คลิปการนำกระดาษอเนกประสงค์ และกระดาษทิชชูมาทำหน้ากากสำหรับใช้ในแต่ละวัน ขอย้ำว่า ไม่แนะนำให้แชร์ข้อมูลนี้และทำตาม เนื่องจากลักษณะของกระดาษนั้นเกิดการประสานกันของเส้นใยเซลลูโลส ซึ่งก็จะมีช่องว่างอุดด้วยสารเติมแต่ง (filler) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ…

Home / NEWS / กรมวิทย์ฯ ย้ำ ‘ทิชชู’ ไม่เหมาะสม นำทำหน้ากากอนามัย

ประเด็นน่าสนใจ

  • เหตุเป็นวัสดุที่สามารถดูดฝุ่นละออง หากสูดดมเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้
  • วอนอย่าส่งต่อการทำหน้ากากอนามัยจากทิชชู่ ป้องกันการเข้าใจผิด

ดร.ภูวดี ตู้จินดา หัวหน้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติและเส้นใย และโฆษกกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากข้อมูลสื่อออนไลน์มีการแชร์คลิปการนำกระดาษอเนกประสงค์ และกระดาษทิชชูมาทำหน้ากากสำหรับใช้ในแต่ละวัน

ขอย้ำว่า ไม่แนะนำให้แชร์ข้อมูลนี้และทำตาม เนื่องจากลักษณะของกระดาษนั้นเกิดการประสานกันของเส้นใยเซลลูโลส ซึ่งก็จะมีช่องว่างอุดด้วยสารเติมแต่ง (filler) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ

อีกทั้งกระดาษอเนกประสงค์ และกระดาษทิชชูยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำด้วย ซึ่งเมื่อมีละอองเข้ามาเกาะจะถูกดูดซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อกระดาษ โดยความสามารถในการดูดซึมขึ้นอยู่กับกระดาษอเนกประสงค์หรือกระดาษทิชชูที่นำมาใช้

นอกจากนี้กระดาษอเนกประสงค์ และกระดาษทิชชูบางเกรด มีการเติมสารฟอกนวลเพื่อ ช่วยให้สีดูขาวขึ้น หากใส่เป็นหน้ากาก มีความอับชื้นเป็นเวลานาน บางคนอาจแพ้และเกิดการระคายเคือง และเส้นใยอาจหลุดจากพื้นผิวเมื่อถูกเสียดสีขุยกระดาษที่สูดเข้าปอดไปก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ วิจัย และให้คำปรึกษาด้านเยื่อและกระดาษแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์ประเภทกระดาษทิชชู ประกอบด้วย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ กระดาษเช็ดปาก และกระดาษอเนกประสงค์ สามารถทดสอบได้ทุกรายการ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) กำหนด

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระดาษและเยื่อกระดาษ ได้ที่กลุ่มวัสดุธรรมชาติและเส้นใย กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 02 201 7121
.
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ