การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลาดนัดจตุจักร

ตัวแทนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ร้อง ปปป. ตรวจสอบ รฟท. บริหารไม่โปร่งใส จนเป็นหนี้สิน

ตัวแทนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ร้อง ปปป. ตรวจสอบ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริหารไม่โปร่งใส ช่วงปี 2555-2561 จนเป็นหนี้สิน วันนี้ (20 มี.ค.) เวลา 11.00 น.…

Home / NEWS / ตัวแทนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ร้อง ปปป. ตรวจสอบ รฟท. บริหารไม่โปร่งใส จนเป็นหนี้สิน

ตัวแทนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ร้อง ปปป. ตรวจสอบ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริหารไม่โปร่งใส ช่วงปี 2555-2561 จนเป็นหนี้สิน

วันนี้ (20 มี.ค.) เวลา 11.00 น. นางนฤมล แซ่หุ้น ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร จำกัด พร้อม ตัวแทนสหกรณ์ฯ ประมาณ 200 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผบก.ปปป. เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตและความไม่เป็นธรรมในการบริหารตลาดนัดจตุจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.2555 – 2561 ทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้ค้าและสมาชิกสหกรณ์ฯ กว่า 1,700 แผงค้า

ทั้งนี้ นางนฤมล กล่าวว่า ตลอด 7 ปี ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาบริหารตลาดนัดจตุจักรได้สร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยุติการบริหารไปแล้วแต่ยังคงทิ้งผลกระทบให้กับผู้ค้าหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาภาระหนี้สินของผู้ค้า และขณะนี้ยังไม่สามารถชําระหนี้คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมดอกเบี้ยตามที่กําหนดได้เนื่องจาก การรถไฟแห่งประเทศไทยปิดกั้น ช่องทางการชำระหนี้ โดยมีผู้ค้าเป็นหนี้ทั้งหมดประมาณ 3,000 ราย ยอดหนี้ตั้งแต่ หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท

นอกจากนี้ ส่วนของตนเอง มี 2 แผงค้า เป็นหนี้รวมกว่า 700,000 บาท ซึ่งเห็นว่า เป็นหนี้ที่เกิดจากการคำนวณค่าเช่าที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแผงค้าลอยที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายบริเวณทางเท้าและทางเข้าตลาดนัดจตุจักร แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยจะออกจากการบริหารไปแล้วแต่แผงค้าลอยร่วม 1,000 แผงยังคงอยู่ และเปิดขายสินค้าชนิดเดียวกันกับคู่ค้าหลัก วางแผงปิดทางเข้าออกทำให้ร้านค้าหลักที่อยู่ข้างในไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ดังนั้น จึงขอให้ ปปป. ตรวจสอบการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่ามีการดำเนินการที่โปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่เพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้ค้า

ด้าน พ.ต.ต.วิวัฒน์ เปิดเผยว่า หลังจากรับเรื่องแล้วจะขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากตัวแทนสหกรณ์ฯ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 30 วันในการรวบรวมหลักฐานเนื่องจากเอกสารมีเป็นจำนวนมาก ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อไป