ประเด็นน่าสนใจ
- ถูกแจ้ง 5 ข้อหาเช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ
- ปิยบุตร โบ้ย ปัญหาอยู่ที่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
- ทั้ง 3 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
วันนี้ ( 16 มี.ค .63 ) ที่ สถานีตํารวจนครบาลปทุมวัน เมื่อเวลา 09.45 น. นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นางสาวพรรณิการ์ วานิชอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ตามด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้าพบตำรวจสน.ปทุมวัน ในคดีที่ จัดการชุมนุมแฟลชม็อบ ที่ สกายวอล์ค หน้าหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62
ทั้งนี้มีรายงานว่าตำรวจแจ้ง ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟในวันดังกล่าว
และร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, การชุมนุมอยู่ในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์
โดย นายปิยบุตร กล่าวว่า เรายืนยันถึงความเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่วนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ออกมานั้น ตอนแรกตนคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ดี
แต่ปรากฎว่าในทางปฏิบัติกลับเป็นปัญหามากกว่าเดิม โดยในสมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เคยเชิญท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มาหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะในทางปฏิบัติแล้วด้วย
“ประเด็นปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ท่านผบ.ตร. ได้รับข้อมูลไปแล้วก็คือแม้กฎหมายฉบับนี้จะใช้ระบบแจ้ง ไม่ใช้ระบบขออนุญาต แต่ทำไปทำมาในทางปฏิบัติการแจ้งกลับสร้างภาระให้กับการชุมนุมสาธารณะมากขึ้นกว่าเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้จัดการชุมนุมแจ้งไปแล้ว เจ้าหน้าที่มักจะวางเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด จนทำให้การชุมนุมไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ หรืออาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการชุมนุม
ซึ่งในท้ายที่สุดอาจต้องทบทวนแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อไป และนี่ยังไม่นับรวมว่าจะนิยามอะไรเป็นการชุมนุม การวิ่งออกกำลังกายเป็นการชุมนุมหรือไม่ หลักใหญ่ใจความต้องให้ความสำคัญกับการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักในฐานะเสรีภาพในการแสดงออก
ด้านนายพิธา ระบุว่า การมา สน.ปทุมวัน วันนี้กลับเป็นภารกิจแรกในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล แทนที่ตนจะได้ใช้เวลาทำงานศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไวรัส covid-19 หรือปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประชุมกันอยู่ในขณะนี้ แต่ตนต้องมาพบพนักงานสอบสวนที่นี่ อย่างไรก็ตามไม่ได้ทำให้กำลังใจหรือทำให้การทำงานเข้มข้นน้อยลงแต่อย่างใด
“เราเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิไตย ไม่ใช่แค่ 4 วินาทีตอนเข้าคูหาเลือกตั้ง ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นหรือมีความทุกข์ร้อนอะไรจะรวมตัวกันเพี่อแสดงออก ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตย
ผมคิดว่าการใช้วิธีทางกฎหมายในเกมการเมือง แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยที่ไม่ต้องการให้มีคนหน้าใหม่เข้ามา ผมอยากให้มีบรรยากาศที่เอื้อให้คนเก่งๆ ให้เลือดใหม่ หรือคนที่มีความสามารถจริงๆ มีโอกาสที่จะเข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น”
นายกฤษฎางค์ ทนายความ กล่าวว่า วันนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อ นายปิยบุตร นายพิธา และน.ส.พรรณิการ์ จำนวน 5 ข้อกล่าวหา คือ
1.ทั้งสามท่านเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยมิได้แจ้งขอการชุมนุม
2.จัดการชุมนุมโดยกีดขวางสถานีรถไฟฟ้า ทำให้เกิดการขนส่งสาธารณะมีปัญหา
3.ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
4.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม
5.จัดการชุมนุมสาธารณะในระยะที่ต่ำกว่า 150 เมตร จากวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทั้ง 3 ท่านให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา