ข่าวสดวันนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไวรัสโควิด-19 ไวรัสโคโรนา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แนะรัฐใช้หลักการ 5 ข้อ แก้การระบาดไวรัสโควิด-19

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอการบริหารจัดการวิกฤติ COVID-19 โดยต้องใช้หลักการ 5 ข้อที่ตนย่อออกมาเรียกว่า C-O-V-I-D มาแก้ไขปัญหา ดังนี้ “Check point – จุดตรวจคัดกรองโรค”…

Home / NEWS / พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แนะรัฐใช้หลักการ 5 ข้อ แก้การระบาดไวรัสโควิด-19

ประเด็นน่าสนใจ

  • เน้นการตั้งด่านตรวจบนท้องถนน ป้องการกระจายเชื้อไปยังจังหวัดต่างๆ
  • ควรมีคนให้ข่าวเพียงคนเดียว เพื่อป้องกันการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เช่น กรณี 13 หมูป่า
  • เพิ่มงบประมาณในการวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอการบริหารจัดการวิกฤติ COVID-19 โดยต้องใช้หลักการ 5 ข้อที่ตนย่อออกมาเรียกว่า C-O-V-I-D มาแก้ไขปัญหา ดังนี้

“Check point – จุดตรวจคัดกรองโรค”

โรคระบาดเป็นเรื่องภัยมั่นคงทั้งของประเทศชาติและมนุษยชาติ ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามไม่ต่างจากภัยอื่นๆ ตัวอย่างการระบาดของโรค Ebola ที่ประเทศคองโก มีการตั้งจุดตรวจตามหัวเมืองสำคัญๆ ทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยได้

ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทย ตามข่าวมีผู้ป่วย COVID-19 สามารถไปมาจากพัทยาถึงเพชรบูรณ์ จากเชียงใหม่ถึงหาดใหญ่ โดยไม่มีคนหรือเทคโนโลยีสุ่มตรวจ ตามท้องถนน “เชิงรุก” เสมือนภัยพิบัติระดับชาติอื่นๆ

หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้คือการตั้งจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างกว้างขวาง โดยทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตามแนวทาง WHO

ต้องเน้นการ drive through หรือการกระจายจุดตรวจย่อยทั้งในและนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องมารวมตัวและรอกันที่โรงพยาบาลหลายชั่วโมงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เพราะการรอคิวในโรงพยาบาลถือเป็นจุดเสี่ยงอีกจุดหนึ่งที่จะแพร่กระจายเชื้อกันได้ การมีจุดตรวจย่อยมากเพียงพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้

“One Voice – สื่อสารเสียงเดียว”

การสื่อสารในช่วงการบริหารจัดการวิกฤติ (crisis management) เป็นสิ่งสำคัญเพราะในช่วงวิกฤติจะเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวลือที่จะสร้างความสับสัน และตื่นตระหนก จนอาจนำไปสู่ความวุ่ยวาย และความโกรธแค้นได้

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องรวมศูนย์การสื่อสารอย่างเป็นทางการไว้ที่แหล่งเดียวหรือคนเดียว เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่สับสนและคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดความตื่นตระหนกในสังคมได้

เช่น ในปี 2014 การระบาดของโรค Ebola ที่มี Barack Obama ประธานาธิบดีเป็นผู้แถลง หรือเหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่าออกจากถ้ำที่จังหวัดเชียงรายที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นผู้สื่อสารหลักเพียงท่านเดียว

“Vaccine – พัฒนาวัคซีน”

ในขณะที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล กำลังทุ่มทุนค้นคว้าและผลิตวัคซีนต้านไวรัส ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่? ประเทศเรามีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีศักยภาพสูง

แต่ปีหนึ่งๆ เราลงทุนกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพียงแค่ 8,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.06% ของ GDP มากกว่าเกณฑ์ของ WHO เพียงเล็กน้อย ถ้าเราเพิ่มงบอีกเท่าหนึ่ง 8,000 ล้านบาท เราก็สามารถสร้างอุตสาหกรรมสุขภาพ มีงานเพิ่มขึ้น มีงบวิจัยเพิ่มขึ้น

มีห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งผลที่ประเทศไทยจะได้รับไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจที่เราจะมีลูกค้าหลายล้านคนจากทั่วโลก แต่เรายังเป็นความหวังของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่พวกเขาต่างรอคอยให้คนที่เขารักหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย

“Isolation – การแยกตัว”

หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นมาตรการหลักที่รัฐบาลทั่วโลกใช้เพื่อชะลออัตราการแพร่ระบาดไม่ให้รวดเร็วจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขหรือเรียกว่า “การทำให้กราฟชันน้อยลง” (Flatten the curve)

ในประเทศไทยยังมีปัญหาว่าการกักตัวยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เมื่อแรงงานไทยที่มาจากต่างประเทศถูกกักตัวใน ขณะที่ชาวต่างชาติที่มาในเครื่องบินเดียวกันไม่ถูกกักตัว หรือพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ ค้าขาย

หรือเป็นลูกจ้างรายวัน คงไม่มีโอกาสที่จะทำตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ หากไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย เช่น หากต้องหยุดงานเพื่อดูอาการถึง 14 วัน แล้วจะยังได้รับค่าตอบแทนจากนายจ้างหรือไม่ อย่างไร

นอกเหนือจากนั้น พวกเรา ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี ผู้ที่มีอภิสิทธิ์มากกว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ควรปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ของสังคม ในการกักตัวเองและทำตามมาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัด

หากเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนว่ามาตรการดังกล่าวมีความเท่าเทียมกัน และจูงใจให้พี่น้องประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญ ให้มีวินัย กับมาตรการดังกล่าวมากขึ้น

“Data – บูรณาการข้อมูล”

รัฐบาลไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการวิกฤติ ภายในวันเดียว รัฐบาลไต้หวันสามารถรวมข้อมูลจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance Administration) และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Agency)

เพื่อค้นหาบุคคลและประวัติการเดินทาง 14 วันที่ผ่านมาของผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งให้รัฐสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยและสามารถให้คนที่มีความเสี่ยงสูงกักตัวเองอยู่ในบ้าน และติดตามความเคลื่อนไหวผ่านโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังทำเว็บไซต์แผนที่แสดงจุดจำหน่วยหน้ากากอนามัยแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้ประชาชนหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายนี้ ผลเสียของโรค COVID จะลามไปถึงเศรษฐกิจ มีหลายสำนักได้ออกมาฟันธงแล้วว่า GDP จะติดลบ -0.8 ถึง 1% สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อศูนย์กลางของโรค COVID ได้ย้ายไปอยู่ที่ยุโรป

ซึ่งเมื่อเริ่มดูสภาพเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ของธนาคารขนาดใหญ่ นโยบายของ ECB แล้ว พวกเราคงต้องคิดแล้วว่า ถ้าผล “Aftermath” ของ COVID จะอยู่กับพวกเราไปอีก 1 ปี เราจะรับมือกันอย่างไร ใช้งบประมาณแค่ไหน วางทัพกันอย่างไร

ถ้าเราผ่านวิกฤตินี้กันไปได้ เราลงทุนในแผนสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้ จะไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแน่นอน โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การวางแผนตั้งด่านบนท้องถนน การตั้งศูนย์ระบบ การสื่อสารกับประชาชน การลงทุนในวิทยาศาสตร์การแพทย์

การพัฒนาวัคซีน การซักซ้อมการแยกตัวของประชาชน การบูรณาการข้อมูลแบบรัฐบาลต่างชาติ จะเป็นการใช้งบประมาณ การลงทุนที่ทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และเราจะเข้มแข็งขึ้น