พรก. ฉุกเฉิน โควิด-19 ไวรัสโคโรน่า 2019

16 ข้อกำหนด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดปิดสถานที่และข้อห้ามต่างๆ

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฉบับ ที่ 1 โดยมีการออกข้อกำหนดทั้งหมด 16 ข้อ เกี่ยวกับการเปิดสถานที่และข้อห้ามต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสรุปดังต่อไปนี้…

Home / NEWS / 16 ข้อกำหนด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดปิดสถานที่และข้อห้ามต่างๆ

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฉบับ ที่ 1 โดยมีการออกข้อกำหนดทั้งหมด 16 ข้อ เกี่ยวกับการเปิดสถานที่และข้อห้ามต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสรุปดังต่อไปนี้

16 ข้อกำหนด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการระบาด ไวรัสโควิด-19

1. ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19

  • ตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มีนาคม 2563 หรือตามที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

2. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค โดยให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดออกคำสั่งได้โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 35 (1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แก่

  • สนามมวย/สนามกีฬา/สนามแข่งขัน/สนามเด็กเล่น/สนามม้า
  • สถานบันเทิง ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ การแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ
  • สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส
  • แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมตามความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

3. ปิดพรมแดนไทย ทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ ยกเว้น

  1. เป็นผู้ได้รับยกเว้น หรือได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี/หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด
  2. เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น
  3. เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ที่จำเป็นเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน
  4. เป็นบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลที่มาปฏิบัติงานในไทย หรือได้รับอนุญาตมีหนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศและ ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพปกติ (ได้รับการตรวจมาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง)
  5. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพปกติ (ได้รับการตรวจมาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง)
  6. เป็นผู้มีสัญชาติไทยในต่างแดน ให้ติดต่อสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนักเพื่อออกหนังสือรับรอง หรือมีใบรับรองแพทย์ได้รับการตรวจไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

4. การห้ามกักตุนสินค้า

  • ยา/ เวชภัณฑ์ /อาหาร /น้ำดื่ม/ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

5. การห้ามชุมนุม

  • ห้ามรวมตัวทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ในสถานที่แออัด หรือกิจกรรมยุยงที่ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

6. ห้ามนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวปลอม

  • ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับ โควิด-19 ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

7. มาตรการเตรียมรับสถานการณ์

  1. ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำกับบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย
  2. ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง เผยแพร่มาตรการช่วยเหลือ/บรรเทาผลกระทบประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ โดยใช้งบประมาณของตนเองเป็นอันดับแรก ถ้าดำเนินการไม่ได้ให้เสนอหรือขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล
  3. ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยในการหายใจและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นให้เพียงพอ รวมถึงเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ และสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกต หรือเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น โดยขอความร่วมมือดัดแปลงสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือสถานที่ราชการ สถานที่เอกขนอื่น ๆ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว
  4. การกักกันตัวเองไว้สังเกตอาการ ให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งขึ้น หรืออาสาสมัครที่ปฏิบัติงานให้แก่ทางราชการสามารถเข้าตรวจสอบการเฝ้าระวังหรือความเข้มงวดจริงจัง อาจขอความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นให้ช่วยตรวจสอบด้วยก็ได้

8. มาตราการต่อกลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 สูง

  • ควรอยู่ในบ้าน บริเวณบ้านของตนเอง เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก กลุ่มคนดังกล่าวได้แก่
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง/หลอดเลือดหัวใจและสมอง/โรคในระบบทางเดินหายใจ/โรคภูมิแพ้
  • กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

ยกเว้นมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์สามารถออกไปพบได้

9. มาตรการการเข้า-ออกประเทศ

  • กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการตรวจลงตรา/ออกวีซ่า

10. มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพฯ

  • ในกรุงเทพฯ มีการจัดเวรยามตำรวจ ตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หากพบเห็นให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที!
  • ต่างจังหวัด ต้องมีมาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง/สังเกตอาการผู้เดินทาง และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค โดยให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามความเหมาะสม

11. มาตรการป้องกันโรค ดังนี้

  1. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ก่อนการจัดกิจกรรม และกำจัดขยะทุกวัน
  2. ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
  3. ทุกคนล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  4. เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อทางฝอยละอองน้ำลาย
  5. ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง
  6. หลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

12. สถานที่ที่เปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่

  • โรงพยาบาล/สถานพยาบาล/คลินิกแพทย์รักษาโรค/ร้านขายยา
  • ร้านอาหารที่ไม่ใช่สถานบันเทิง/แผงจำหน่ายอาหาร/ร้านสะดวกซื้อ/ร้านค้าทั่วไป
  • ห้างสรรพสินค้า (แผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)
  • โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม
  • ตลาดและตลาดนัด (ส่วนที่จำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็น)
  • สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า
  • บริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online)
  • หน่วยงานของรัฐเปิดปกติ เว้นที่มีประกาศให้ปิดหรืองดดำเนินการไปก่อนแล้ว เช่น สถาบันการศึกษา

13. ประชาชนควรพักหรือทำงานอยู่ที่บ้าน

  • งดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ถ้าจำเป็นต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด

14. การจัดกิจกรรม พิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม

  • เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเช่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์ และงานพิธีที่ทางราชการ จัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11

15. โทษความผิด ผู้ฝ่าผืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 – 6

  • ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2548 หรือมาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี

16. การใช้บังคับข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร

  • บังคับใช้ข้อกำหนดทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
  • ในกรณีมีความจำเป็นนายกฯ อาจออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการ/เงื่อนไข/เงื่อนเวลา ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพรให้ประชาชนทราบ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป