หน่วยซีล พร้อมทหาร และเจ้าหน้าที่ 110 นาย ขนอุปกรณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่าออกจากถ้ำหลวง ด้าน โค้ชเอก พาเด็ก ๆ ช่วยด้วย เผยแม้ช่วยไม่ได้มาก แต่ขอส่งกำลังใจให้ทุกคน
วานนี้ (20 มี.ค. 2562) เพจ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ ได้มีการโพสต์ข้อความรายงานถึงความคืบหน้าการเข้าเก็บกู้อุปกรณ์ช่วยชีวิต อาทิ อุปกรณ์สื่อสาร หลอดไฟฟ้า สายไฟฟ้า ถังอ๊อกซิเจน เชือก ฯลฯ ออกจากถ้ำหลวงของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยชีล ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค. หลังนำไปช่วยกู้ชีพ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวงเมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเผยว่า
ขณะนี้การขนย้ายอุปกรณ์ดังกล่าว ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ยังมีอุปกรณ์ขนาดใหญ่จำพวกเครื่องสูบน้ำ และถังอ๊อกซิเจนบางส่วนที่ยังนำออกมาไม่ได้ คงต้องใช้เวลาปฏิบัติภารกิจในรอบที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26-29 มีนาคมนี้ แต่ในภารกิจครั้งนั้นจะเป็นหน้าที่ของพลเรือน โดยจะไม่มีหน่วยซีลเข้าไปนำร่องเหมือนที่ผ่านมาอีก
อย่างไรก็ดีในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ โค้ชเอก หรือนายเอกพล จันทะวงษ์ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ประสบเหตุติดอยู่ในถ้ำหลวง ได้โพสต์ภาพของตัวเอง ผ่านเพจ เอกพล จันทะวงษ์ พร้อมกับเด็กๆ จากทีมหมูป่าที่ประสบเหตุร่วมกัน พากันเข้าไปในถ้ำหลวงอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือหน่วยซีลและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในการขนย้ายอุปกรณ์ช่วยชีวิตดังกล่าวออกมาจากถ้ำ
พร้อมมีข้อความระบุว่า ถึงจะช่วยอะไรได้ไม่มาก…..แต่ขอส่งกำลังใจให้พี่ๆทุกๆคนครับ @ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยภาพได้เผยให้เห็นว่าโค้ชเอก และน้องๆ ช่วยกันคนละคนมือในการแบกถังอ๊อกซิเจนออกมาจากถ้ำ
ขณะที่เพจ ภาคย์ โลหารชุนซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ และ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ หน่วยซีล ที่เข้าไปอยู่ดูแลน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่อยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อครั้งเกิดเหตุ ได้มีการโพสต์ภาพและคลิปในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว
โดยหมอภาคย์ ได้บอกเล่าพร้อมชี้จุดความยากลำบากที่สุด ในการดำน้ำเข้าไปช่วยชีวิตของน้องๆ ครั้งนั้น ซึ่งหมอภาคน์ เผยว่าจุดดังกล่าวแคบมากและเกือบเอาชีวิตเพราะถูกกระเป๋ากู้ชีพและสายอ๊อกซิเจนรัดคอ กว่าจะแก้ได้ก็ใช้เวลานานทำเอาใจหายใจคว่ำเลยทีเดียว
ภาพ/คลิป จาก ภาคย์ โลหารชุน, เอกพล จันทะวงษ์, สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่
เกร็ดน่ารู้
คำว่า Hooyah “ฮูย่า” ที่หน่วยซีลใช้ประกาศชัยชนะ หรือทำภารกิจประสบความสำเร็จนั้น มาจากคำตะโกนร้องของพวกอินเดียนแดงในการประสบชัยชนะจากการสู้รบโดยใช้กันในหมู่ของทหารเรือ (เช่น Navy SEALs) นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวที่คล้ายกับคำว่า Hooyah อีกหลายคำ โดยแตกต่างกันไปในแต่ละเหล่าทัพ เช่น Hoorah = ทหารอากาศ Oorah = นาวิกโยธิน และ Hooah = ทหารบก เป็นต้น