ประเด็นน่าสนใจ
- คาดผลิตขึ้นมาทดแทนการใช้แทนผงชูรส หวังเป็นผลดีสุขภาพมากขึ้น
- ผงนัวดังกล่าวผลิตจากสมุนไพรหลายชนิด ทั้ง รสหวาน,รสขม และรสเปรี้ยว
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดใหม่ “พฤกษาพารส” ที่ช่วยปรุงรสชาติให้อาหาร มีรสอร่อย (รสนัว) และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดใหม่ “พฤกษาพารส” ใช้หลักการพัฒนาตำรับและกรรมวิธีการผลิตทางเคมีและเภสัชกรรม เพื่อพัฒนาเป็นตำรับผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรที่ช่วยปรุงรสชาติให้อาหาร มีส่วนประกอบจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ 100 %
ซึ่งคัดสรรจากใบผักและสมุนไพรอินทรีย์ รวม 12 ชนิด (คำว่า “พารส” เป็นภาษาบาลี หมายถึง สิบสอง) นำมาสกัดด้วยน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาคุณภาพของอาหาร ประกอบด้วยสมุนไพร 5 รสชาติ ได้แก่
- รสหวาน มีสรรพคุณทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง เช่น ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า
- รสขม มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร เช่น ย่านาง ก้านตง
- รสจืดเย็น มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ เช่น หม่อน รสเผ็ด มีสรรพคุณช่วยขับลม บำรุงธาตุ เช่น กระเทียม ผักแป้น
- รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้เสมหะ ฟอกโลหิต เช่น ส้มป่อย ชะมวง รสมัน มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ทำให้อบอุ่น เช่น มะรุม โดยนำมาผสมตามสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำมาผลิตและตรวจสอบคุณภาพตามด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลิตภัณฑ์สมุนไพร “พฤกษาพารส” มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวช่วยปรุงรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม อีกทั้งมีสารทางพฤกษเคมีต่างๆ ซึ่งช่วยบำรุงร่างกาย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน และใยอาหารสูง
แนวคิดของผงนัว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการดูแลสุขภาพ โดยใช้สมุนไพรที่มีรสชาติต่างๆ นำมาใช้ทดแทนผงชูรสนั้น เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้นำมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร “พฤกษาพารส” ที่เตรียมจากสารสกัดสมุนไพร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
ช่วยปรุงรสชาติให้อาหารมีความกลมกล่อม ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการ และยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ผงชูรสที่ผลิตจากโมโนโซเดียมกลูตาเมท เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในการดูแลสุขภาพได้อย่างมั่นใจ
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตรผลผลิตจากการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หลังจากนั้นจะถ่ายเทคโนโลยีภาคเอกชนผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป