สถานการณ์ภัยแล้งของปี 2563 ถูกทำนายไว้ว่า จะรุนแรงและหนักที่สุดติดอันดับ 2 ในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานไปจนถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งคาดว่าปริมาณฝนจะลดลงต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบนจนทำให้ลุ่มน้ำโขง แห้งในที่สุดภัยแล้งรุกหลายพื้นที่ของไทย
จากรายงานข่าวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า ปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่เหลือน้อยลง ลอดคล้องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาลดลงทำให้ต้องกักเก็บน้ำไว้เพื่อป้องกันภัยแล้ง หากสถานการณ์ฝนลดลงจะทำให้เกิดภัยแล้งขึ้นได้ เพื่อเป็นการป้องกันจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรในการเพาะปลูกต่างๆ ขอให้ติดตามคำเตือนจากทางเจ้าหน้าที่ และทำตามคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร โดยให้กับเก็บน้ำฝนใช้น้ำฝนเพื่อการเกษตรในระยะนี้เป็นหลัก
ด้วยปริมาณฝนน้อยใกล้เคียงกับปี 2522 แต่สวนทางกับปริมาณความต้องการการใช้น้ำที่มากกว่าในอดีต จากข้อมูลขณะนี้สถานการณ์การใช้น้ำและผลกระทบรุนแรงกว่าปี 2558 แล้ว
“ลุ่มน้ำห้วยเสนง” กับแผนรับมือ
ห้วยเสนง เป็นลำน้ำสายสำคัญ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เนินเขาพนมดงรัก หรือตามภาษาถิ่นเรียกว่า “ดองแร๊ก” ไล่เลียงลงมาตามเนินโคก ทุ่งราบ และที่ราบลุ่มน้ำ สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา พบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมัชชาสุขภาพสุรินทร์ สภาพลเมืองสุรินทร์ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง นักวิชาการ ม.ราชภัฏสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนง.สาธารณสุขจังหวัด ศปจ.สุรินทร์ ฯลฯ เห็นร่วมกันว่า น้ำแล้งของห้วยเสนง เป็นภาวะวิกฤตที่ต้องเผชิญในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนทั้งชุมชนชนบทและชุมชนเมือง จึงได้ร่วมกันระดมความเห็นและขับเคลื่อนประเด็น การบริหารจัดการน้ำและความมั่นคงด้านอาหารในภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำห้วยเสนง ให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการปฏิบัติตลอดสายน้ำ โดยกำหนดให้เป็นมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุรินทร์และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ปริมาณน้ำทั่วประเทศ
สถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีอยู่ร้อยละ 60 รวม 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย. คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติถึง 3-5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การร้อยละ 43 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยถึง 14 แห่ง ได้แก่
- เขื่อนแม่กวง
- เขื่อนภูมิพล
- เขื่อนสิริกิติ์
- เขื่อนแม่มอก
- เขื่อนทับเสลา
- เขื่อนกระเสียว
- เขื่อนจุฬาภรณ์
- เขื่อนอุบลรัตน์
- เขื่อนลำพระเพลิง
- เขื่อนลำแซะ
- เขื่อนลำนางรอง
- เขื่อนป่าสักฯ
- เขื่อนคลองสียัด
- เขื่อนหนองปลาไหล
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำสายหลักอย่างเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำโขงเอง ก็มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ ทำให้คุณภาพน้ำแย่ลง ค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการอุปโภคบริโภค บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำแล้งจนเกิดปัญหาภาวะน้ำเค็ม
ในที่ประชุมของหน่วยงานด้านน้ำ กรมชลประทานได้รายงานถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาที่พบว่ามีค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเสนอทางออกว่าจะใช้วิธีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านมายังแม่น้ำท่าจีนเพื่อเจือจางความเค็มจากน้ำทะเลที่รุกเข้ามาในเจ้าพระยา ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กำชับว่าในการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองจะต้องระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง
ปัญหาน้ำเค็มรุกที่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ทำให้น้ำประปาบางจุดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีรสกร่อย กรมชลประทานได้เร่งบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเจือจางและผลักดันน้ำเค็ม ผันน้ำจากแม่กลองช่วยแม่น้ำเจ้าพระยา แก้ปัญหาน้ำประปากร่อย
ทำให้สถานการณ์น้ำประปาในระบบของพื้นที่ กทม. กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ความรุนแรงของสถานการณ์น้ำเค็มลดน้อยลงกว่าช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยช่วงที่ค่าความเค็มหนักที่สุดคือวันที่ 28 ธ.ค. ปีที่แล้ว จากนี้คาดว่าก่อนถึงช่วงเดือน พ.ค. 2563 แนวโน้มความรุนแรงของน้ำทะเลหนุนจะลดลง
เก็บข้อมูลปัญหาแม่น้ำโขง แจ้ง สปป.ลาว
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง สทนช. รายงานว่ามีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดในปี 2535 และต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ระดับน้ำแม่น้ำโขง จ.เชียงราย จ.เลย จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร มีแนวโน้มลดลง ส่วน จ.หนองคาย และ จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มทรงตัว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวในที่ประชุมว่าได้รับแจ้งจากจีนว่าจะมีการลดการระบายน้ำจากเขื่อนในจีนลงครึ่งหนึ่งจาก 1,200-1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงราว 30-60 เซนติเมตร หรืออาจจะมากกว่าเมื่อผ่านเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งใกล้กับแม่น้ำโขงในไทยที่ จ.เลย
นอกจากนี้ เลขาธิการ สทนช. ยังได้เสนอให้ทางกรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพในการเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ระดับน้ำ และปริมาณตะกอนในแม่น้ำโขง เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการแจ้ง สปป.ลาว ให้ทราบถึงภาวะแม่น้ำโขงในส่วนของประเทศไทย
ตามภาวะปกติ ฤดูหนาวจะมาก่อนฤดูร้อน และฤดูร้อนของประเทศไทยมักจะอยู่ควบคู่กับความแห้งแล้ง รวมไปถึงที่ผ่านมาหากปีไหนหนาวมาก ปีนั้นจะแล้งมากตามมาเช่นกัน
กางแผนรับมือภัยแล้ง 2563
ในส่วนของแผนรับมือภัยแล้ง หลังคาดการณ์ว่าจะยาวนานไปจนถึงเดือน พ.ค. 2563 หรือประมาณ 6 เดือน กรมชลประทานจึงบริหารจัดการน้ำในระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2562 – 30 เม.ย. 2563 เพื่อมีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นอุปโภค-บริโภค 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 หรือช่วง พ.ค. – ก.ค. 2563 รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้ง 7,874 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุตสาหกรรม 519 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรเพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะใน 22 จังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ไม่มีแผนการเพาะปลูก เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่จากการสำรวจพบว่า มีบางพื้นที่ได้ทำการปลูกพืชนอกแผน 1,540,000 ไร่ ซึ่งบางส่วนมีการสำรองน้ำไว้บ้างแล้ว
ให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาความแห้งแล้ง รวมถึงยังมีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และแก้มลิงรวม 421 โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและเพิ่มการเก็บกัก พร้อมเตรียมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำด้วย
_______
อ้างอิงข้อมูล :
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1796783
https://news.thaipbs.or.th/content/287658
เอกสารโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดสุรินทร์ ปี 2563