วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอน หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

“วันมาฆบูชา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ ได้แก่ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3, พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6 พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน…

Home / NEWS / โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอน หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ ได้แก่ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3, พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน “เอหิภิกขุอุปสัมปทาน” ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้แสดง “โอวาทปาติโมกข์” ด้วย

“โอวาทปาติโมกข์” คืออะไร?

เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น

เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้

  • พระนิพพาน : พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า “นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา”
  • พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง “วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ” คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
  • ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึง หลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ,การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต

กล่าวคือ โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น “ปาติโมกข์” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ หรือจะเรียกว่าเป็นการประกาศตั้งศาสนาก็ได้

บทสวดโอวาทปาฏิโมกข์

นำ (หันทะ มะยัง โอวาทะปาติโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,

สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,

ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ

นำ (หันทะ มะยัง ปัจฉิมะพุทโธวาทะปาฐัง ภะณามะ เส)

หันทะทานิ ภิกขะเว, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือน,

อามันตะยามิโว, ท่านทั้งหลายว่า

วะยะธัมมา สังขารา, สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา,

อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ, ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด,

อะยัง ตะถาคะตัสสะ นี้เป็นพระวาจาในครั้งสุดท้าย ของพระ-

ปัจฉิมาวาจา. ตาถาคต.

ปัญจอภิณหปัจจเวขณปาฐะ

ชะราธัมโมมหิ, (อ่านว่า ธัม-โมม-หิ) เรามีความแก่เป็นธรรมดา,

ชะรัง อะนะตีโต (ตา) ล่วงความแก่ไปไม่ได้,

พะยาธิธัมโมมหิ, เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา,

พะยาธิง อะนะตีโต, (ตา) ล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้,

มะระณะธัมโมมหิ, เรามีความตายเป็นธรรมดา,

มะระณัง อะนะตีโต (ตา), ล่วงความตายไปไม่ได้,

สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ, เราละเว้นเป็นต่าง ๆ คือว่า พลัดพราก

นานาภาโว วินาภาโว, ของรัก ของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง,

กัมมัสสะโกมหิ, เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน,

กัมมะทายาโท, เป็นผู้รับผลของกรรม,

กัมมะโยนี, เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด,

กัมมะพันธุ, เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์,

กัมมะปะฏิสะระโณ, เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย,

ยัง กัมมัง กะริสสามิ, จักทำกรรมอันใดไว้,

กัลยาณัง วา ปาปะกังวา, ดีหรือชั่ว,

ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสานิ, จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น,

เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง, เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนือง ๆ

ปัจจะเวกขิตัพพัง. อย่างนี้แล

บทความแนะนำ