ประเด็นน่าสนใจ
- 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ได้แก่ CAT ได้ 2 ใบอนุญาต และ AIS ได้ 1 ใบอนุญาต
- 2600 MHz ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต AIS ได้ 10 ใบอนุญาต และ TRUE ได้ 9 ใบอนุญาต
- 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ทั้งหมด 27 ใบอนุญาต TRUE ได้ 8 ใบอนุญาต, TOT ได้ 4 ใบอนุญาต, DTAC ได้ 2 ใบอนุญาต และ AIS ได้ 12 ใบอนุญาต
การประมูล 5G โดยสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จบลงเป็นที่เรียบร้อย โดยคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จำนวน 3 ใบอนุญาต มีเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 3 ราย คือ
บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
และ บริษัท กสท โทรคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผลปรากฏว่า ผู้ชนะได้แก่ CAT ได้ 2 ใบอนุญาต และ AIS ได้ 1 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูลรวม 51,460 ล้านบาท
ตามด้วยคลื่นความถี่ 2600 MHz ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต มีเข้าร่วมประมูล 3 รายเช่นเดิม คือ AIS, TRUE และ CAT ซึ่งผู้ชนะได้แก่ AIS ได้ 10 ใบอนุญาต และ TRUE ได้ 9 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูลรวม 37,433 ล้านบาท
สุดท้ายคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ทั้งหมด 27 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 4 ราย ประกอบไปด้วย AIS, TRUE, DTAC และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT โดยผู้ชนะได้แก่ TRUE ได้ 8 ใบอนุญาต, TOT ได้ 4 ใบอนุญาต, DTAC ได้ 2 ใบอนุญาต และ AIS ได้ 12 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูลรวม 11,627 ล้านบาท
รวมการประมูล 5G ทั้ง 3 คลื่น จำนวน 48 ใบอนุญาต ทำเงินเข้ารัฐรวมกว่า 100,521 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม