ประเด็นน่าสนใจ
- ยันอากาศที่ผ่านเครื่องกรองมีค่าอยู่ในระดับ 1 – 5 (คุณภาพอากาศดีมาก)
- และหลักการทดลองนี้เป็นแบบเดียวกันกับการใช้แก้ปัญหาฝุ่นในเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ
จากกรณีที่กระทรวงคมนาคมได้มีมาตรการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนรถเมล์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลด้วยการใช้หลักการคล้ายกับการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน โดยใช้การเคลื่อนที่ของรถให้อากาศเข้ามาในท่อผ่านเครื่องฟอกอากาศที่ถูกติดตั้งไว้บนหลังคารถ
จากนั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงความเห็นถึงมาตรการดังกล่าวว่าไม่สามารถทำได้จริง และเหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ ซึ่งหากอยากลดปัญหาฝุ่นควันจริงๆ ก็ควรหันมาใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าแทนนั้น
ล่าสุดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ได้ออกมาโต้ข้อคิดเห็นของ อ.เจษฎา โดยยืนยันว่า หลังจากการทดลองเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถเมล์สามารถใช้งานได้จริง และไม่ได้ใช่เรื่องลวงโลกตามที่เข้าใจ
โดยนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เผยว่า
- กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จึงได้ทดสอบการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบ สำหรับติดตั้งบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก. เพื่อทดลองกรองอากาศ และดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในขณะที่รถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชน
- การทำงานของเครื่องต้นแบบ ใช้หลักการกวาดอากาศที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งอยู่บนถนนที่มีการจราจรแออัดในกรุงเทพมหานคร ในระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อรถโดยสารวิ่ง อากาศจะปะทะเข้าทางด้านหน้ารถและผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ
ซึ่งวิธีการนี้สามารถกรองอากาศได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการดูดลมเข้าเครื่องกรองดังเช่นเครื่องกรองอากาศทั่วไป นอกจากนี้ ขสมก.ได้เลือกใช้ไส้กรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับ PM 2.5 ได้ และมีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
โดยหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันกับการใช้แก้ปัญหาฝุ่นในเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ (https://edition.cnn.com/…/pollution-sucking-buse…/index.html ) และ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย (https://www.edexlive.com/…/designed-by-delhi-researchers-th… ) - เครื่องกรองอากาศที่ติดตั้งบนหลังคารถโดยสารมีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถกวาดอากาศเข้าเครื่องกรอง ได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว (เมื่อรถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร)
ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า ผู้ใหญ่ 1 คน จะสูดอากาศหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น รถโดยสาร 1 คัน จะช่วยกรองฝุ่นในอากาศให้กับประชาชนที่อยู่บนถนนได้มากถึง 20,000 คน - จากการทดลองนำรถโดยสาร ที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถ มาวิ่งให้บริการประชาชน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ในขณะที่รถวิ่ง ผลการวัดค่า PM 2.5 อากาศก่อนเข้าเครื่องกรอง
มีค่าอยู่ในระดับ 48 – 52 (คุณภาพอากาศปานกลาง) ในขณะที่ อากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1 – 5 (คุณภาพอากาศดีมาก) - การทดลองนี้ เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและ ขสมก. ได้ดำเนินการทดลองนี้ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม
หากการทดลองต่อเนื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงจะดำเนินการต่อไปให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์ของสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
ข้อมูลภาพจาก เพจ The Reporters