บริษัทอเด็คโก้ กรุ๊ป Recruitment & Staffing Agency ผู้นำด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร ร่วมกับ Google และสถาบัน INSEAD เปิดรายงานดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกประจำปี 2563 (Global Talent Competitiveness Index: GTCI) พบว่า กรุงเทพมหานครอันดับ 2 เมืองที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดใน AEC เป็นรองเพียงสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามพัฒนาการของไทยยังช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
กรุงเทพฯ อันดับ 2 เมืองที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดใน AEC
โดย GTCI เป็นการวัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลในทุกมิติทั้งด้าน ปัจจัยส่งเสริมภายใน (Enable) การดึงดูดคน (Attract) พัฒนาคน (Grow) การรักษาคน (Retain) ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational & Technical Skills) และความรู้ความสามารถในระดับสากล (Global Knowledge Skills)
สำหรับการจัดอันดับเมืองในปีนี้ เมืองที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดได้แก่ “นิวยอร์ก” ที่มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับสองได้แก่ “ลอนดอน” อันดับ 3 ได้แก่ “สิงคโปร์” ด้าน “กรุงเทพมหานคร” ถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญด้านทรัพยากรบุคคลและโอกาสเติบโตสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาค โดยตั้งแต่ปี 2561 กรุงเทพมหานครมีอันดับโลกที่สูงขึ้นทุกปี จากอันดับที่ 78 สู่อันดับที่ 65 และอันดับที่ 57 ในปัจจุบัน จนนำหน้า “กัวลาลัมเปอร์” เมืองหลวงประเทศมาเลเซียได้สองปีซ้อน
เมื่อมองภาพรวมในระดับประเทศพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนรวมที่ดีขึ้น โดยมีคะแนนอยู่ที่ 41.30 ซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อนที่มีคะแนนอยู่ที่ 38.62 อย่างไรก็ตามพัฒนาการของไทยยังช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
โดยพบว่าอันดับของประเทศไทยลดลงจากอันดับที่ 66 สู่อันดับที่ 67 โดยพบว่าปัจจัยด้านความรู้ความสามารถในระดับสากล ทักษะวิชาชีพ และปัจจัยส่งเสริมภายในที่มีอันดับสูงขึ้นในปีที่แล้ว ในปีนี้กลับมีอันดับลดลงทั้งสามด้าน ส่งผลให้ประเทศอินโดเนเซียแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 65 และครองอันดับ 4 ใน AEC
ส่วนในระดับโลกนั้น อันดับที่ 1 ยังคงตกเป็นของแชมป์เก่าอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ทำอันดับขึ้นมาเป็นที่ 2 แซงประเทศสิงคโปร์ที่ในปีนี้หล่นมาอยู่ในอันดับที่ 3 อันดับที่ 4 ได้แก่ประเทศสวีเดน ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ประเทศเดนมาร์ก
คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยมีคะแนนรวมสูงขึ้น แต่อันดับตกลงนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้ส่งผลให้ตลาดโลกต้องการแรงงานที่มีทักษะที่สูงขึ้นและหลากหลายขึ้น ดังนั้นเมื่อมาเทียบกับประเทศอื่นๆ ศักยภาพการแข่งขันของแรงงานไทยในตอนนี้จึงอาจยังไม่พอกับสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน
ไทยจึงควรเร่งพัฒนาทักษะให้กับประชาชนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลในประเทศ ให้มีทักษะที่เป็นที่ต้องการในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านดิจิทัล ทักษะทางเทคโนโลยี ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะภาษาต่างประเทศ และทักษะทางด้านอาชีวะ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาและส่งเสริมค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้แรงงานไทยมีภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล”
“นอกจากนี้ปัจจัยส่งเสริมภายในก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น นโยบายภาครัฐ ความมั่นคงทางการเมือง อัตราการคอร์รัปชัน สภาพตลาดแรงงาน ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการวิจัย ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย”
ขอบคุณภาพจาก : Photo by Dan Freeman on Unsplash