ข่าวสดวันนี้ พระพรหมสิทธิ ธงชัย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ศาลสั่งปรับ-จำคุก อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ คดีเงินทอนวัด

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (19 ก.พ. 63) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพนม ศรศิลป์ อายุ 60…

Home / NEWS / ศาลสั่งปรับ-จำคุก อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ คดีเงินทอนวัด

ประเด็นน่าสนใจ

  • เนื่องจากเห็นว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จริง
  • คำสั่งจำคุกนี้ให้รอลงอาญา 2 ปี เนื่องจากเห็นว่า จำเลยเคยเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ และปฏิบัติกิจทางศาสนามาด้วยดีตลอด
  • ส่วนคดีเบียดบังทรัพย์สินเป็นของตนเอง ศาลได้สั่งยกฟ้อง

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (19 ก.พ. 63) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

  • นายพนม ศรศิลป์ อายุ 60 ปี อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.),
  • นายชยพล พงษ์สีดา อายุ 64 ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ.,
  • นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา,
  • นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา,
  • พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือ นายธงชัย สุขโข อายุ 64 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย,

เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประกอบมาตรา 83, 86, 91 หรือที่เรียกว่าคดีเงินทอนวัด

ซึ่งจากการพิจารณาจากพยานและหลักฐานแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งตัดสิน จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 12 เดือน, จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน

ส่วน”พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท โดยในส่วนของจำเลยที่ 5 นั้นศาลเห็นว่า ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ไม่เคยกระทำผิดทางวินัยจึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้กำหนด 2 ปี

ซึ่งสาเหตุของการสั่งตัดสินจำคุกครั้งนี้เนื่องจาก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จริง

ส่วนในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ศาลยกฟ้อง

เนื่องจากไม่พบว่ามีการเบียดบังทรัพย์ไปเป็นของตน รวมถึงท้ายคำฟ้องของโจทก์ ที่ให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน จำนวน 69,700,000 บาท นั้น ศาลตัดสินไม่ต้องชำระเงินงบประมาณคืน เนื่องจากไม่พบว่ามีการทุจริตเบียดบังไปเป็นของตน