คดีฆ่าเสือดำ คดีล่าหมีขอ เปรมชัย กรรณสูต เสือดำ

ตอบทุกข้อสงสัย ‘คดีฆ่าเสือดำ’ ทำไมยกฟ้อง ทำไมได้ประกัน ฯลฯ

1 ปีที่ผ่านมากับข่าว ‘คดีฆ่าเสือดำ‘ ถูกถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมไทย ไม่เว้นแต่สื่อนอกที่พูดถึงกระแสข่าวนี้ ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยตั้งคำถามว่าสรุปแล้วคดีนี้จะจบลงอย่างไร…? อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูตร จำเลยที่ 1…

Home / NEWS / ตอบทุกข้อสงสัย ‘คดีฆ่าเสือดำ’ ทำไมยกฟ้อง ทำไมได้ประกัน ฯลฯ

1 ปีที่ผ่านมากับข่าวคดีฆ่าเสือดำ‘ ถูกถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมไทย ไม่เว้นแต่สื่อนอกที่พูดถึงกระแสข่าวนี้ ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยตั้งคำถามว่าสรุปแล้วคดีนี้จะจบลงอย่างไร…?

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูตร จำเลยที่ 1 รวม 16 เดือน แบ่งเป็น

  • ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาติ จำคุก 6 เดือน
  • ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 8 เดือน
  • ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 2 นางยงต์ โดดเครือ 13 เดือน ไม่รอลงอาญา ,จำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน จำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท รอลงอาญา ,จำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาช จำคุก 17 เดือน ไม่รอลงอาญา โดยจำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท

ซึ่งต่อมา ต่อมาทางศาลให้ประกันตัว นายเปรมชัย กรรณสูต โดยมีหลักทรัพย์ประกัน 4 แสนบาท พร้อมสั่งห้ามออกนอกประเทศ ดังที่หลายคนได้ติดตามข่าวไปแล้ว

ทั้งนี้ภายหลังคำตัดสินของศาล ทำให้สังคมตั้งคำถามต่างๆนานา ถึงคดีดังกล่าว อาทิ ทำไมนายเปรมชัย ถึงหลุดจากข้อหาฆ่าเสือดำ ทำไมบทลงโทษถึงน้อย และสิ่งที่คนในสังคมพูดถึงอีกประเด็นหนึ่งคือ “คนรวย = ไม่ติดคุก จริงหรือไม่?” วันนี้ MThaiNews ได้รวบรวมคำถามจากในทวิตเตอร์ MThai พร้อมกับคำตอบที่จะทำให้ผู้อ่านได้รู้ถึงสาเหตุสำคัญของคดีดังกล่าวโดยอ้างอิงตามข้อกฎหมาย

คดีฆ่าเสือดำ

ตอบข้อสงสัยใน ‘คดีฆ่าเสือดำ’

Q : ทำไมเปรมชัยไม่โดนเรื่องเสือดำ?
A : เนื่องจาก ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานชี้ชัดในคดีนี้ว่า นายเปรมชัยเป็นผู้ครอบครอง ซึ่งคาดว่า อาจจะมีจำเลยที่ 2,3 รับว่าเป็นเจ้าของซากเสือดำในครั้งนี้ โดยเฉพาะ จำเลยที่ 3 นางนที เรียมแสน ซึ่งมีหน้าที่ทำครัว เป็นผู้ปรุง “เมนูเสือดำ” และคงไม่สามารถปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีนายยงค์ โดดเครือ ที่โดนครอบครองซากเสือดำด้วย

ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งถูกคาดหมายว่า เป็นผู้ยิงเสือดำ นั้น (จากบันทึกการจับกุม หลังจนท.ได้ยินเสียงปืน และพบนายธานีถือปืนเดินออกมาจากจุดดังกล่าว )  โดยจากการตรวจสอบในการขึ้นให้การต่อศาลคดีเสือดำ พบว่า นายธานี ทุมมาศ ไม่ได้ขึ้นสืบพยาน ในวันสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเวียนหัว จึงไม่สามารถมาให้การได้ ทำให้คาดได้ว่า ในคดีเสือดำนี้ อาจจะมีการเลือกไม่ให้นายธานีขึ้นให้การหรือไม่? เพราะหากขึ้นให้การ และเอ่ยถึงมูลเหตุอื่นใด อาจจะเป็นประเด็นให้มัดสาวไปยังบุคคลอื่นได้นั่นเอง

นายเปรมชัย กรรณสูต

Q : การยกฟ้องนายเปรมชัย กรณีครอบครองซากเสือดํา/ล่าเสือดำ
A : ถือเป็นจุดได้เปรียบ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่า นายเปรมชัยเป็นผู้ยิง หรือครอบครองซากเสือดำอย่างชัดเจน มีเพียงนางนที เรียมแสน ที่เป็นแม่ครัวผู้ทำเมนูเสือดำ นายยงค์ โดดเครือ ส่วนนายธานี นั้นได้รับโทษในส่วนของการล่า ซึ่งแม้ว่า นายธานี จำเลยที่ 4 ไม่ได้ขึ้นให้สอบพยาน แต่จากพฤติการจึงมีความเป็นไปได้ที่มีหน้าที่เป็น “พราน” ในทริปนี้

ในกระบวนการหลักฐานที่มีนั้น ยังควบรวมไปถึง จุดที่ทนายจำเลย น่าจะเลือกเหตุผลของการที่นายเปรมชัย ขับรถออกจากแคมป์ที่พัก เพื่อเดินทางไปหา หัวหน้าวิเชียร เพื่อขอตั้งแคมป์ ในจุดดังกล่าว มาเป็น “ข้อโต้แย้ง” มิให้มัดตัวนายเปรมชัยได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง

Q : รวย = ไม่ติดคุก
A : สิทธิประกันตัวใช้ได้ทุกคน หลักทรัพย์ประกันตัวมากน้อยแตกต่างกันไปตามอัตราโทษ หากมีอัตราโทษสูง ก็จำเป็นจะต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวสูงตามไปด้วย หากเป็นคดีเล็กๆ อัตราโทษต่ำ ก็ใช้เงินประกันตัวน้อยลงไปตามส่วน ซึ่งในการประกันตัวนั้น หากเป็นความผิดเล็กน้อย ผู้ใหญ่บ้านใช้ตำแหน่งมาประกันตัวได้และไม่ต้องใช้เงินในการประกันตัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในปี 2558 ได้มีการประกาศจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรม” ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งหน้าที่ของกองทุนนี้ คือ การช่วยเหลือในเรื่องของหลักทรัพย์การประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลยในดคีต่างๆ ที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เพิ่มโอกาสให้จำเลย/ผู้ต้องหา มากขึ้นด้วยนั่นเอง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนจน-คนรวย ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

Q : รวย จ้างทนายเก่ง = รอด
A : สิ่งที่ต้องเข้าใจในแง่มุมของกฎหมายนั้น การที่ผู้ต้องหา/จำเลย ในคดีนี้ ไม่ติดคุก = รอด แต่ก็ไม่อาจเรียกว่า “ไม่มีความผิดได้” แต่อย่างใด ในคดีนี้ ศาลได้ “ตัดสินโทษ” ว่า “มีความผิด” โดยมีอัตราโทษตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจำเลยได้เลือกที่จะสู้คดีต่อ โดยใช้ “สิทธิ” ประกันตัวออกมาสู้คดีต่อนั่นเอง

ในมุมของวาทกรรม มีเงินจ้างทนายเก่งจึงรอดนั้น เป็นเพียงหนึ่งในมุมมองที่พบเห็นจากหลายแหล่ง ซึ่งทนายเองมีส่วนช่วยได้ไม่มากก็น้อย ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ในหลายคดี ซึ่งยังมีอีกหลายคดีที่ ทนายขอแรง (ทนายที่ศาลตั้งให้จำเลยที่ไม่มีเงิน) ก็ช่วยจำเลยหลุด เพียงแค่คดีเหล่านั้นไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้นเอง

Q : ทำไมโทษมันน้อยจัง?
A : เนื่องจากคดีเรื่องทรัพยากรฯ เป็นกฎหมายที่มีเกิดมานานแล้ว (เก่านั่นเอง) ปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎหมายกันอยู่ อย่าเช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ เป็นต้น ดังนั้นอัตราโทษจึงยังน้อย เพราะกฎหมายที่ร่างสมัยข้าวจานละ 10 บาท คงไม่เท่าปัจจุบัน

Q : คดีหมีขอ ทำไมคุกแล้ว ทำไม #เสือดำ ไม่ติด
A : คดีหมีขอ จำเลยส่วนหนึ่ง รับสารภาพ (ไม่สู้คดี) ศาลสั่งจำคุกได้เลยตามความผิด แต่อีกส่วนหนึ่งสู้คดีต่อ ยังไม่จบนะครับ

ดังนั้น ในบริบทของคดีหมีขอ ต้องเทียบกับในมุมของคนที่ยังสู้คดีต่อนะครับ

ประเด็น ‘ล่าหมีขอ’

ความคืบหน้า ‘คดีล่าหมีขอ’

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการจังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัชรชัย สมีรักษ์ หรือ ปลัดแมน ปลัดฝ่ายป้องกันอำเภอด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี พร้อมพวกรวม 13 คน ในข้อหา ล่าหมีขอที่บริเวณป่าเขาพลู หมู่ 8 ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค

คดีล่าหมีขอ

จากการพิจารณาจากพยานและหลักฐานแล้ว ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้พิพากษาจำคุกนายตาต้า จำเลยที่ 13 เป็นเวลา 7 ปี 2 เดือน แต่นายตาต้า ชาวกะเหรี่ยง ให้การยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงลดโทษจำคุกเหลือ 3 ปี 7 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกไม่รอลงอาญา

สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 12 อันได้แก่ นางสาวศรีวิจิตร ดิษฐ์แช่ม ,นายทัศดนัย ขอกระโชก ,นายจิรชัย ตันติวัฒน, นายประสาน เต็มธนัน และนายสมเกียรติ เพ็งนาเรนทร์ โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ส่วนจำเลย ที่ 3.นายฉัตรชัย เกาะลอย, จำเลยที่ 5.ว่าที่ ร.ต. สุนทร มาเจริญรุ่งเรือง, จำเลยที่ 6.นายสกานต์ แก่งหลวง, จำเลยที่ 7.นายอนุสรณ์ เรือนงาม, จำเลยที่ 10.นายถาวร เซี่ยงหลิว และจำเลยที่ 11.นายวัชรชัย สมีรักษ์ หรือปลัดแมน ศาลได้เลื่อนนัดตรวจพยานออกไปเป็นวันที่ 22 เม.ย.2562 นี้ หลังทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ใน คดีล่าหมีขอ นี้ ยังคงมีจำเลยบางส่วนที่สู้คดีต่อ จึงไม่อาจจะเรียกได้ว่า คดีสิ้นสุดแล้ว ซึ่งมีเพียงจำเลยส่วนหนึ่งที่รับสารภาพ ศาลจึงตัดสินในส่วนนี้ได้ก่อน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า “คดีหมีขอ เร็วกว่าคดีเสือดำ” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มิได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ต้องเลือกมองในมุมของ “จำเลยที่เหลือ” เลือกที่จะ “สู้คดี” ต่อนั่นเอง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประกันตัว

การยื่นคำร้องขอประกันตัว

การติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมด้วยเอกสารและหลักประกันประกอบคำร้องดังกล่าว โดยนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งเอกสารในการประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • ทะเบียนบ้าน
  • กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
    • บัตรประกันตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและทะเบียนบ้านของคู่สมรส
    • ใบสำคัญสมรส / หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส
  • กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฎในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติมได้แก่ หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือ หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล / ใบสำคัญการสมรส
  • กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ หากมีหนังสือเดินทาง (Passport) ต้องนำมาแสดงด้วย
  • หากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้

หลักประกันที่สามารถใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

  • เงินสด
  • หลักทรัพย์อื่น เช่น โฉนดที่ดิน พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย (แคชเชียร์เช็ค) หรือเช็คที่ธนาคารรับรองแล้ว
  • สมุดเงินฝากประจำหรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร หรือ หนังสือค้ำประกันหรือหนังสือรับรองของธนาคาร หรือ หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัย
  • ในบางกรณีอาจใช้หลักประกันต่อไปนี้ได้ อาทิ ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถจักรยานยนต์ / ภ.บ.ท.5 ส.ค.1 น.ส.2 หรือ สปก. / บ้านพักอาศัย / หลักทรัพย์ที่ติดจำนองหรือมีภาระติดพัน
  • บุคคลเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์
    • ส่วนราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา
    • เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมืองหรือนายความ (ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน เฉพาะตนเองหรือญาติใกล้ชิด) โดยสามรรถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
    • ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนฯ เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย อาจใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้ สำหรับกรณีความผิดที่ถูกกล่าวหาเกิดจาการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพ โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

การยื่นอุทธรณ์

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือต้องห้ามฎีกา โจทก์จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกาได้ โดยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โดยการยื่นอุทธรณ์อาจทำได้ 2 กรณีคือ การขอยกฟ้อง หรือการขอลดโทษ เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการในชั้นอุทธรณ์ก็จะมีการนัดสืบพยานโจทก์ จำเลย เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีคำพิพากษา หากจำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีก็จะเข้าสู่ในชั้นฎีกาต่อไปตามขั้นต่อกระบวนการของศาล

มาตรา 198 การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน

ในกรณีที่ตามคำพิพากษาจำเลยต้องรับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจำเลยก็ได้ ข้อบังคับนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จำเลยได้รับการรอการลงโทษจำคุก หรือรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว

ว่าด้วยเรื่องของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งได้มีการแก้ไขมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2557

โดยเฉพาะอัตราโทษสูงสุดของการล่าสัตว์ป่าสงวน, สัตว์ป่าคุ้มครอง ตลอดจนมีสัตว์ป่าสงวน, สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือมีซากไว้ในครอบครอง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีล่าสัตว์ป่าใดๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กร พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่า เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าบทลงโทษใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 นั้นน้อยเกินไป เนื่องด้วย พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีการบังคับใช้มีเป็นเวลานานแล้ว บทลงโทษจึงไม่สมเหตุสมผลในสถานการณ์ปัจจุบัน

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ผ่านมา มักจะมีข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดที่สัตว์ล่าป่า อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยมีชื่อปรากฏทั้งบุกคนมีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองที่เป็นผู้กระทำผิด จนมีการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายและปรับอัตราโทษให้หนักขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562  โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกัน ให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่ มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง

อ่านต่อ >>> ประกาศแล้ว! โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ไม่ต้อง “มีประกัน”