ประเด็นน่าสนใจ
- เพื่อให้ สธ. ใช้กฎหมายในการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่วนการยกระดับของ WHO หวังให้รัฐบาลแต่ละประเทศ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ประกาศให้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีใจความว่า ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของข้อ 1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559
“(14) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”
ทั้งนี้นอกจากราชกิจจานุเบกษาประกาศให้เชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้ว ทางองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการประกาศยกระดับ การประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก สู่ระดับ “สูงมาก” ซึ่งถือเป็นเกณฑ์สูงสุดขององค์การอนามัยโลกในการเตือนภัยโรคระบาด
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลก รับรู้และตระหนักถึงความเป็นจริงว่า ระบบสาธารณสุขทั้งในและระหว่างประเทศในหลายชาติ “ยังไม่พร้อม” รับมือกับไวรัสดังกล่าว
ทั้งเพื่อเร่งให้แก้ไขเนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลสวัสดิภาพ และปกป้องชีวิตของประชาชาติให้พ้นจากวิกฤตครั้งนี้