การประปานครหลวง น้ำประปา น้ำประปาเค็ม

การประปาฯ เร่งแก้ปัญหาน้ำประปาเค็ม แนะแนวทางการใช้น้ำช่วงหน้าแล้ง

จากกรณีที่ปัจจุบันพบหลายพื้นที่ในเขตกทม.และ ปริมณฑล ประสบภาวะน้ำประปาเค็ม ส่งผลให้บางครัวเรือนได้รับผลกระทบ ล่าสุด นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดภาวะภัยแล้ง และน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมา กปน.ได้หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง…

Home / NEWS / การประปาฯ เร่งแก้ปัญหาน้ำประปาเค็ม แนะแนวทางการใช้น้ำช่วงหน้าแล้ง

ประเด็นน่าสนใจ

  • หลายพื้นที่ในเขตกทม.และ ปริมณฑล ประสบภาวะน้ำประปาเค็ม
  • เกิดจากภาวะภัยแล้ง และน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ด้านการประปานครหลวงเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมคำแนะนำการใช้น้ำประปาในช่วงหน้าแล้ง

จากกรณีที่ปัจจุบันพบหลายพื้นที่ในเขตกทม.และ ปริมณฑล ประสบภาวะน้ำประปาเค็ม ส่งผลให้บางครัวเรือนได้รับผลกระทบ ล่าสุด นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดภาวะภัยแล้ง และน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมา กปน.ได้หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง

อีกทั้งประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำกับสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานมาโดยตลอด แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงสูงสุดในรอบ 50 ปี จึงยังคงมีความเค็มผ่านเข้ามาในระบบ ประกอบกับระบบผลิตน้ำของ กปน.ไม่สามารถกำจัดความเค็มออกจากน้ำดิบได้ จึงส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนไปสามารถรับรู้ถึงรสชาติกร่อยเล็กน้อยในบางช่วงเวลา

ซึ่งความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร มีปริมาณสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลต่อความน่าดื่มและการยอมรับ ทั้งนี้ กปน. ขอยืนยันในภารกิจที่ต้องผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชน ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

เบื้องต้น ขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ดังนี้ 1.ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ด้วยรสชาติที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม

ทั้งนี้ ความเค็มในรูปของโซเดียมในน้ำประปา ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน 2.การใช้น้ำประปาเพื่อปรุงอาหารในช่วงเวลานี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลง 3.กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ และ เด็กเล็ก

อย่างไรก็ตาม กปน. จะเร่งบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีดังกล่าว โดยนำน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม มาจัดให้บริการ โดยประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่านทั้ง 18 สาขา เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 ม.ค. 63 เป็นต้นไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่มา : การประปานครหลวง