ประเด็นน่าสนใจ
- ชาวสวนทุเรียน ใน จ.นนทบุรี ได้รับผลกระทบน้ำเค็มรุกสวนทุเรียน
- ผลกระทบดังกล่าวทำใบทุเรียนเริ่มแห้งเหลือง ต้องเด็ดดอกทุเรียนทิ้งเพื่อรักษาส่วนที่เหลือ
- ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแหล่งน้ำดิบช่วยเหลือ
ที่สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ในตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แหล่งทุเรียนขึ้นชื่อของเมืองไทย เพื่อพูดคุยกับนายสำเริง สุนทรแสง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มรุก
โดยนายสำเริง เล่าว่า ตั้งแต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ได้ทำการวัดค่าความเค็มของน้ำในขณะนั้นพบว่ามีค่าความเค็มสูงอยู่ที่ประมาณ 1 กว่า ppt(กรัมต่อลิตร) จึงทำการปิดไม่ให้น้ำเข้ามา ในส่วนของน้ำที่ขังอยู่ในท้องร่องที่เป็นน้ำเดิม เมื่อน้ำเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันค่าความเค็มพุ่งสูงถึง 6 ppt ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้นำน้ำในท้องร่องมารำต้นไม้ แต่รากของทุเรียนก็ดูดซึมน้ำขึ้นมา ส่งผลให้ใบทุเรียนบางส่วนเริ่มแห้งเหลือง
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในเบื้องต้น นายสำเริงบอกว่า หากทุเรียนต้นไหนที่เริ่มมีใบแห้งเหลือง เมื่อเริ่มมีดอกทุเรียน ก็มีความจำเป็นต้องเอาออกจากต้นทั้งหมด เนื่องจากจะไปส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของลำต้น รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรก็ได้มีการช่วยเหลือตัวเอง โดยการนำน้ำประปามาทำการเกษตร เพื่อประทังปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ฤดูแล้งมาไวกว่าปกติ
ซึ่งค่อนข้างมีความกังวลถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะช่วงเวลาที่ต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตนั้นใช้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม ซึ่งยังเหลืออีกหลายเดือนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำเค็มรุก จึงอยากให้มีหาแหล่งน้ำดิบช่วยเหลือ
ด้านนายประหยัด ไชยสิทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า ได้สำรวจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม มีประมาณ 200 กว่าราย ซึ่งเป็นเกษตรกรสวนทุเรียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80
ซึ่งตอนนี้ได้ทำหนังสือถึงทางชลประทานแล้ว และทางการประปานครหลวง ขอลดหย่อนค่าน้ำให้เกษตรกร ที่ใช้น้ำประปาเกิน 50 คิว จะมีการคิดอัตราคงที่ 10 บาท 50 สิบสตางค์ โดยขณะนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีได้สั่งการให้เร่งสำรวจในเรื่องจุดจ่ายน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร