ภัยแล้ง ฤดูแล้ง ลดการใช้น้ำ สถานการณ์น้ำ เขื่อนอุบลรัตน์

ชลประทาน วางมาตรการลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์แล้ว

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ด้วยการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาว สูบย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง ช่วยเหลือการประปามหาสารคาม คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้กว่า…

Home / NEWS / ชลประทาน วางมาตรการลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์แล้ว

ประเด็นน่าสนใจ

  • กรมชลประทาน เร่งวางมาตรการลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำย้อนกลับดึงน้ำจากเขื่อนลำปาวเติมหน้าเขื่อนวังยาง ช่วยประปามหาสารคาม
  • จังหวัดเชียงใหม่ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในลำน้ำปิง
  • ที่จังหวัดนนทบุรี ค่าความเค็มบริเวณอำเภอบางกรวย เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ระบายน้ำช่วยเจือจางความเค็ม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ด้วยการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาว สูบย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง ช่วยเหลือการประปามหาสารคาม คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้กว่า 6 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เดิมจะมีการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ระบายลงลำน้ำพองผ่านฝายหนองหวาย ก่อนจะไหลลงแม่น้ำชีผ่านเขื่อนมหาสารคาม เข้าไปเติมบริเวณหน้าเขื่อนวังยาง ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ประมาณวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 1-2 เซนติเมตร ใน

ขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะระบายน้ำลงสู่ลำปาวก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำชี บริเวณเหนือเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งจะควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ปัจจุบันสำนักเครื่องจักรกล ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ เป็นเครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า submersible จำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบประมาณวันละ 180,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน

เริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563

จากแนวทางดังกล่าวข้างต้น จะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. รวมประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำหน้าเขื่อนวังยาง เพื่อรักษาระดับน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภค ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดบางส่วน ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้

แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในลำน้ำปิง

ด้านจังหวัดเชียงใหม่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดบรรจบคลองแม่ข่ากับลำน้ำแม่ปิง บริเวณบ้านดอนชัยหมู่ที่ 4 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำจากคลองแม่ข่าที่รับน้ำผ่านชุมชนสองฝั่งในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ พบว่าสภาพน้ำมีสีคล้ำดำ

จึงได้สั่งการให้ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 เพิ่มการระบายน้ำบริเวณท้ายประตูระบายน้ำแม่น้ำปิงท่าวังตาล จากเดิมที่ระบาย 2.70 ลบ.ม./วินาที เพิ่มเป็น 3.90 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 337,000 ลบ.ม./วัน เพื่อเจือจางน้ำเสียในลำน้ำปิง

ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำปิง พร้อมขอความร่วมมือประชาชน และเกษตรกรผู้ประกอบการงดทิ้งน้ำเสียลงสู่แม่น้ำปิง

พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกนาปรังในปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักมีน้อย เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ค่าความเค็มบริเวณอ.บางกรวย เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ส่วนที่จังหวัดนนทบุรี กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวยได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกเข้าในพื้นที่ กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เร็วกว่าปกติ

ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลแจ้งเตือนก่อนหน้านี้แล้ว มีเพียงบางส่วนที่รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เบื้องต้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ได้ทำการระบายน้ำจืดลงมาในพื้นที่ดังกล่าว

จนทำให้ค่าความเค็มลดลงเหลือ 0.26 กรัม/ลิตร นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถสำรองน้ำส่วนนี้เอาไว้ใช้ในระยะต่อไป โดยมีการใช้ร่วมกับน้ำประปาตามความเหมาะสม เพื่อลดค่าความเค็มให้เจือจางลง ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ต่างมีความเข้าใจในสภาพปัญหาของธรรมชาติที่เกิดขึ้น