น้ำเค็ม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แม่น้ำแม่กลอง

สทนช.ปรับแผน!! ดึงน้ำแม่กลองดันน้ำเค็ม

ด็อกเตอร์สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อหารือมาตราการรับมือวิกฤตภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุก ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล…

Home / NEWS / สทนช.ปรับแผน!! ดึงน้ำแม่กลองดันน้ำเค็ม

ประเด็นน่าสนใจ

  • สทนช.ปรับแผนผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองผลิตน้ำประปา และชะลอความเค็ม
  • หลังน้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 7 – 15 มกราคมนี้
  • เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาสูบน้ำเข้าพื้นที่จนทำให้เหลือน้ำน้อย ไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน

ด็อกเตอร์สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อหารือมาตราการรับมือวิกฤตภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุก ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบปัญหาประปามีรสกร่อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในการใช้เพื่อการอุปโภค

ด็อกเตอร์สมเกียรติ กล่าวว่า เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีน้ำไหลระบายออกจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาทเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำส่วนที่หายไป 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่ามีเกษตรกรดึงไปใช้เพื่อการเกษตร จึงทำให้ไม่มีน้ำ เพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องในลุ่มน้ำเจ้าพระยามี จำนวน 1.1 ล้านไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนนี้จึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่ข้าวนาปีรอบ 2 หรือข้าวนาปรัง จำนวน 2 ล้านไร่กว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องควบคุมไม่ให้เกินไปจากนี้ แต่ที่ปลูกไปแล้วก็ต้องดูแลกันต่อไป

ปัจจุบันจึงได้ปรับแผนนำน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองมาช่วยผลิตน้ำประปา และชะลอความเค็ม โดยน้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 7 – 15 มกราคมนี้ ทำให้มีลิ่มความเค็มสูง กระทบการผลิตน้ำประปา จึงเร่งผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองผ่าน 4 คลองหลักคือ 1 คลองจระเข้สามพราน ผ่านมาทางแม่น้ำท่าจีนออกทางคลองพระยาบันลือ 2 คลองประปา 3 คลองบางกอกน้อย และ 4 คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อลดค่าความเค็ม

โดยนับตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 – ปัจจุบัน ได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง แล้ว 200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตั้งโควต้าไว้ 500 – 800 ล้าน ลบ.ม. โดยที่คนในลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นน้ำส่วนเกิน

ส่วนอีกหนึ่งมาตรการที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (7 ม.ค.63) คือเสนอกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำ พร้อมเสนอตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งมีการขออนุมัติงบกลางจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในระยะสั้นในช่วงเวลา 2-3 เดือนนี้ด้วย