ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จากสถิติของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวง สาธารณสุข พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 คิดเป็นร้อยละ 16 ของการเสียชีวิตทั้งหมดซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจเฉลี่ย 6 ถึง 3 เท่า หรือคิดง่ายๆ ว่า ใน 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 4 ราย
สถานการณ์โรคมะเร็งทั่วโลก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โรคมะเร็ง คือกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเซลล์ก่อให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งที่มีการเจริเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์และมากกว่าปกติโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสม จากรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก พ.ศ.2561 พบว่า มีจํานวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคมะเร็งประมาณ 14 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 4.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตจะเกิดจากโรคมะเร็ง คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2567 จํานวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกอาจมากกว่า 20 ล้านรายต่อปี โดยพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งอยู่ในประเทศที่กําลังพัฒนา
สถานการณ์โรคมะเร็งในไทย
สถานการณ์โรคมะเร็งในภาพรวมของไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี พ.ศ.2556 – 2558 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุจํานวนผู้ป่วยรายใหม่ 122,757 ราย โดยมะเร็งที่พบบ่อยและทําให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- มะเร็งตับและท่อน้ําดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งไม่เพียงมีผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละรายอาจสูงถึงหลักแสนหรือล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปมาก แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานในโรคมะเร็งหลายชนิด แต่ยังคงเป็นการดูแลในด้านการเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐาน
ทำไมจึงพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นทุกปี
เพราะด้วยโครงสร้างของประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทําให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคส่วนมากเป็นปัจจัยที่ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการดําเนินชีวิตประจําวัน ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ ประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปอื่น ๆ เช่น ไส้กรอก หมูเบคอน แฮม ที่ทําให้เกิดสารก่อมะเร็งขึ้นในร่างกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา และการมีน้ําหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน การขาดการออกกําลังกาย เป็นต้น
โรคมะเร็งเกี่ยวข้องในระดับชุมชนได้อย่างไร
การส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย การวิจัยและนวัตกรรมยังไม่เพียงพอ อีกทั้งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาคเอกชนในการต่อสู้กับโรคมะเร็งยังอยู่ในวงจํากัด จากข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2561 ใช้ค่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งจํานวน 26,679 ล้านบาท ทั้งนี้เฉพาะข้อมูลปี พ.ศ. 2561 ใช้ค่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งจํานวน 9,557 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง จําเป็นที่จะต้องมีนโยบายบริหารจัดการให้บูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้ผลการควบคุมโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว จะมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
ด้วยประเด็นความสําคัญดังกล่าว จึงจําเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาชน เพื่อเป้าหมายในการควบคุมโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในประเทศไทยมีการดําเนินงานอย่างไรบ้าง
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทําแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งครอบคลุมเรื่องโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามยังไม่ได้เน้นเรื่องการ ป้องกันโรคและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
1. แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ
ประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Control Programme) ฉบับแรกในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทําให้บางแผนไม่เข้ากับบริบทในขณะนั้น จึงมีการปรับปรุงแผนการ ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2556-2560 ต่อมาได้มีการทบทวนและปรับแผนฉบับเดิม พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ โดยมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ และ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจนได้แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2564 ที่ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง (Primary prevention)
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการตรวจหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรก (Secondary prevention)
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Tertiary prevention-treatment)
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care)
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านสารสนเทศโรคมะเร็ง (Cancer informatics)
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการวิจัยเพื่อป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง (Cancer research)
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการเสริมสร้างสมรรถนะองค์กร ในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง (Capacity building)
การทําแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาตินี้ไม่มีงบประมาณรองรับ ดังนั้นการขับเคลื่อน จะเป็นการดําเนินงานของภาครัฐที่รับผิดชอบงานในด้านนั้น ๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน (ไม่นับสิงคโปร์) ที่มีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ
2. แผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพกับการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทําแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ภายใต้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” (Seamless Heath Service Network) ที่สามารถเชื่อมโยง ตั้งแต่ระบบบริการปฐมภูมิ จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูงเข้าด้วยกัน ดําเนินการในรูปแบบเครือข่ายบริการ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 12 เขตสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร (เขตสุขภาพที่ 13) มีระบบการส่งต่อภายใน เครือข่าย (Referral Hospital Cascade) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ลดความแออัดใน โรงพยาบาล ลดอัตราการรอคอยการรักษา และลดความเหลื่อมล้ำของการรับการบริการสาธารณสุขโดยมี กรอบการดําเนินงานที่สําคัญ คือการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการแต่ละระดับ ให้เป็นไปตามขีด ความสามารถที่กําหนด มีการพัฒนาระบบบริการเพื่อรองรับ และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สําคัญของประเทศซึ่ง โรคมะเร็งจัดเป็นหนึ่งในสาขาหลักของ Service Plan ด้วย
เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดอย่างมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งได้ อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกในระดับพื้นที่ จึงมีการนําแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ ลงสู่การปฏิบัติใน Service plan สาขาโรคมะเร็ง และมีการจัดทํานิยามตัวชี้วัด Service plan สาขาโรคมะเร็ง เพื่อให้มีความชัดเจนเข้าใจตรงกัน สามารถใช้เป็นเครื่องมือหรือแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลการปฏิบัติงาน และประเมินติดตามการดําเนินงานแก่บุคลากร ที่ให้บริการสุขภาพด้านโรคมะเร็งของสถานบริการในแต่ละ เขตสุขภาพ รวมทั้งการรายงานตัวชี้วัดต่อผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข
3. การคัดกรองมะเร็ง
มะเร็งปากมดลูกสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ภายใต้ความร่วมมือกับสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทําโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับชาติครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทํา การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี pap smear ในสตรีกลุ่มอายุ 30-60ปี หรือ VIA ในกลุ่มสตรีอายุ 35-45 ปี ได้รับการตรวจคัดกรองทุก ๆ 4 ปี ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล ใกล้บ้าน เกือบ 10,000 แห่งทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การดําเนินโครงการการคัดกรองอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ มีการประสานกับบุคคลและ หน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ สาธารณสุขจังหวัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ สปสช. ทําให้สตรีไทยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการบริการคัดกรองได้อย่างทั่วถึง
4. การสร้างเครือข่ายพยาบาลประสานงานผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer Nurse Coordinator)
เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป มีการรักษายาวนาน และอาจเกิด อาการข้างเคียงจากการรักษาได้ ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว พยาบาล ถือว่าเป็นวิชาชีพที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และญาติมีบทบาทสําคัญที่สามารถเชื่อมประสานไปยังทีมดูแลที่อยู่ใน พื้นที่ ตลอดจนเครือข่ายความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่จําเป็นสําหรับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ประสานงาน ส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งตามรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ จึงมีการฝึกพยาบาลที่ ทําหน้าที่ผู้ประสานงานผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer Nurse Coordinator) ซึ่งมีการฝึกอบรมจนถึงระดับ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาพยาบาลผู้รับผิดชอบงานมะเร็ง ให้มีความรู้ความเข้าใจในการ พยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และทักษะการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง สร้าง เครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องครอบคลุมในเขตสุขภาพ
5. กิจกรรมรณรงค์
ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อให้คนไทยตระหนักถึง ความสําคัญของโรคมะเร็งในโอกาสต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การรณรงค์ตาม campaign วันมะเร็งโลกของ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UIcC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งในเดือนต่างๆ เช่น เดือนมกราคม จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์โบสีขาว-เขียวฟ้า ต้านมะเร็งปากมดลูก มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้และการป้องกันมะเร็งปากมดลูกแก่ประชาชน ช่วงเดือนมีนาคม มีการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลําไส้ใหญ่ โดยใช้ใบสีน้ําเงินเป็นสัญลักษณ์ ช่วงเดือนตุลาคม ของทุกปี มีการจัดทําโครงการโบชมพูสู้มะเร็งเต้านม เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่เป็น ภัยร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทยเป็นต้น อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ยังคงจัดขึ้นภายในโรงพยาบาล หรือในเขตกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่
6. ภาคีเครือข่ายต้านมะเร็งและฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง
ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เช่น ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย ชมรม Thai Cancer Society ชมรม Stronger than Cancer ชมรมกล่องไร้เสียงของผู้ป่วยมะเร็งลําคอ ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ เครือข่ายของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มูลนิธิสุขภาพไทย เครือข่ายแพทย์วิถี ธรรมแห่งประเทศไทย อโรคยศาล วัดคําประมง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นต้น องค์กรเหล่านี้มีการดําเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในหลายรูปแบบทั้งด้านสุขภาวะทางปัญญา และการ รณรงค์ เพื่อให้คนไทยตระหนักเห็นความสําคัญของโรคมะเร็ง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต้านมะเร็ง
จากแผนป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ สู่แผนปฏิบัติการในเขตสุขภาพต่างๆ ทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ภาคีเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาค ประชาสังคม ในการป้องกันโรคมะเร็งแบบสานพลังในพื้นที่นับว่ามีน้อยมาก อาจเนื่องมาจากโรคมะเร็งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างทั้งที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ จึงจําเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ล่าสุด ประเด็น “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะสู่การสร้างรูปแบบและแนวทางการป้องกัน แก้ไขปัญหาโรคมะเร็งในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ชมคลิป “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ได้ที่ Youtube : Healthstation official >>> https://www.youtube.com/watch?v=OsIWLLH0ssQ