ประเด็นน่าสนใจ
- ย้ำหากการกู้เงินผิดจริงนายทะเบียน – กกต. ต้องรับผิดชอบ
- หากไม่ทำตามถือว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก มีเนื้อหาระบุว่า “พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้จริงหรือ (ตอนที่ 2)” ตนค้างไว้เมื่อวาน (13 มกราคม) ว่า หากจะยึด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่ แล้วบอกว่า พรรคการเมืองไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองได้ตามตรรกะการลงมติของ กกต.ชุดปัจจุบัน
พรรคไหนกู้ ถือว่าผิดกฎหมายต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ต้องตัดสิทธิการเมือง ต้องโทษอาญาจำคุก จะกู้ 1,000 บาท 1 ล้าน หรือ กู้ 100 ล้าน แปลว่า กู้เหมือนกัน เหมือนลอกข้อสอบข้อเดียวหรือสิบข้อ จับได้ก็ต้องปรับตกไม่มีข้อยกเว้น
นายสมชัย ระบุอีกว่า จากเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต. ภายในเดือน พฤษภาคม 2562 มีพรรคการเมืองถึง 18 พรรค (รวมพรรคอนาคตใหม่) ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว
- พรรคพลังศรัทธา มีรายการเงินกู้ระยะสั้น 300,000 บาท
- พรรคพลังชาติไทย เงินกู้ระยะสั้น 113,988 บาท
- พรรคไทยธรรม เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 1,000 บาท
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย เงินกู้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน 5,000,000 บาท
- พรรครวมใจไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 45,697.86 บาท
- พรรคอนาคตใหม่ เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 161,200,000 บาท
- พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 226,000 บาท
- พรรคพลังไทยรักชาติ เงินกู้ยืมหัวหน้าพรรค 85,000 บาท
- พรรคเมืองไทยของเรา เงินกู้ยืมระยะสั้น 542,750 บาท
- พรรคเพื่อชีวิตใหม่ เงินกู้ยืมระยะยาว 50,000 บาท
- พรรคเงินเดือนประชาชน เงินกู้ยืมจากกรรมการ 822,183.70 บาท
- พรรคไทรักธรรม เงินกู้ยืม กรรมการบริหารพรรค 4,376,000 บาท
- พรรคพลังประชาธิปไตย เงินยืมจากหัวหน้าพรรค 5,584,290 บาท
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เงินกู้ยืม 542,125 บาท
- พรรคพลังท้องถิ่นไท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,427,000 บาท
- พรรคไทยรักษาชาติ เงินยืมจากหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 1,738,868.92 บาท
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ เงินกู้ยืมระยะสั้น 4,216,600 บาท
- พรรคชาติพัฒนา เงินกู้ยืม 2,000,000 บาท
ทั้งหมดนี้ ถือเป็น “ความปรากฏ” ที่นายทะเบียนต้องรับรู้ และหากพบว่าเป็นความผิดต้องชงเรื่องต่อ กกต. เพื่อมีมติดำเนินการ เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรค กู้เงิน “ปรากฏ” ในเอกสารงบการเงินปี 2556 และเหตุการณ์ที่มีพรรคอีก 17 พรรค “ปรากฏ” ในเอกสารงบการเงินปี 2561 นั้น มีนายทะเบียนพรรคการเมืองคนละคน
“หากการกู้ทั้งสองเหตุการณ์เป็นความผิด และมีการปล่อยปละละเลย นายทะเบียนต้องรับผิดชอบเป็นอันดับแรกและ กกต. อาจต้องร่วมรับผิดในฐานะไม่กำกับดูแลงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วยกฎหมาย
แต่หากบอกว่า ไม่ผิด กรณีชงเรื่อง เงินกู้อนาคตใหม่ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต. 5 ใน 7 ที่ลงมติส่งฟ้องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรับผิดชอบต่อมติที่ตนเองลงด้วย”
ปี 2557 นายทะเบียนพรรคการเมือง ชื่อ นายศุภชัย สมเจริญ ปัจจุบันเป็น รองประธานวุฒิสภา ปี 2562 นายทะเบียนชื่อ พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา ปัจจุบันเป็นเลขาธิการ กกต. และสำรองสมาชิกวุฒิสภาอันดับที่ 8