ประเด็นน่าสนใจ
- นครเซาเปาโล ออกกฎหมายใหม่ห้ามธุรกิจต่าง ๆ ใช้ภาชนะและเครื่องใช้ที่ทำจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- มีการกำหนดให้ธุรกิจเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่สามารถย่อยสลายหรือสามารถใช้ซ้ำได้แทน
- ทางการเซาเปาโลระบุว่าขยะพลาสติกมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ16 ของขยะทั้งหมด และประชาชนในเมืองเซาเปาโลผลิตขยะพลาสติกราว 635,000 ตันต่อปี
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ม.ค.) นครเซาเปาโล เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศบราซิลประกาศสงครามกับ “พลาสติก” ออกกฎหมายใหม่ห้ามโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ให้บริการภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากพลาสติกกับลูกค้า
บรูโน โกวัส (Bruno Covas) เทศมนตรีเมืองเซาเปาโลประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง อาทิ แก้ว จาน และแท่งสำหรับคนส่วนผสม
ระหว่างลงนามอนุมัติกฎหมายดังกล่าว โกวัสได้กล่าวว่า “นี่เป็นพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่เราต้องทำเพื่อคนรุ่นหลัง หยุดผลิตพลาสติก และเปลี่ยนมาดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อโลกยิ่งขึ้น”
กลุ่มธุรกิจต่างๆ มีเวลาจนถึงมกราคม 2021 ในการปรับเปลี่ยนและปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ โทษปรับของผู้ฝ่าฝืนอยู่ที่ 1,000-8,000 เรอัลบราซิล (ราว 7,300-58,000 บาท) และหากฝ่าฝืนซ้ำอาจถูกสั่งปิดกิจการ
“เราเชื่อว่าผู้คนจะเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเรากำลังปฏิบัติตามพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม” โกวัสกล่าว
กฎหมายข้อนี้ระงับการใช้พลาสติกหลากหลายประเภท ตั้งแต่ภาชนะพลาสติกตามรถเข็นขายอาหารและเครื่องดื่มไปจนถึงก้านลูกโป่ง
เซลโซ กอสตา (Celso Costa) เจ้าของบาร์แห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่า เขาเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎใหม่นี้ แต่ก็กังวลกับต้นทุนของผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
“เราต้องศึกษาราคาของผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ทดแทน แต่ผมคิดว่ามันเป็นมาตรการที่ดี (การงดใช้พลาสติก) ก็เหมือนกับทุกๆ เรื่อง มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา”
ที่มา สำนักข่าวซินหัว