เมืองสูงวัยในฝัน สร้างสุขให้ผู้สูงอายุ ณ กาฬสินธุ์

ในวันที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป หลายครอบครัวคนหนุ่ม-สาวต้องออกจากบ้านไปทำงานเพื่อหารายได้ ทำให้ผู้สูงอายุบางคนจำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยให้คนสูงวัยอยู่คนเดียวนั้นเป็นสิ่งที่น่าห่วง ทั้งเรื่อง สุขภาพ คุณภาพชีวิต และอุบัติเหตุ “กาฬสินธุ์” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ริเริ่มออกแบบ เมืองสูงวัยในฝัน สร้างสุขให้ผู้สูงอายุ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตทั้งทางกาย…

Home / NEWS / เมืองสูงวัยในฝัน สร้างสุขให้ผู้สูงอายุ ณ กาฬสินธุ์

ในวันที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป หลายครอบครัวคนหนุ่ม-สาวต้องออกจากบ้านไปทำงานเพื่อหารายได้ ทำให้ผู้สูงอายุบางคนจำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยให้คนสูงวัยอยู่คนเดียวนั้นเป็นสิ่งที่น่าห่วง ทั้งเรื่อง สุขภาพ คุณภาพชีวิต และอุบัติเหตุ

“กาฬสินธุ์” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ริเริ่มออกแบบ เมืองสูงวัยในฝัน สร้างสุขให้ผู้สูงอายุ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตทั้งทางกาย ทางใจ อารมณ์ สังคม ปัญญาที่ดีขึ้น

 เมืองสูงวัยในฝัน ณ กาฬสินธุ์

เมืองสูงวัยในฝัน เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พยาบาลวิชาชีพ  อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และอาสาสมัครรุ่นใหญ่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพ ร่วมด้วยช่วยกันมองเห็นอนาคตของสังคมสูงวัยจึงออกแบบเมืองเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองที่คนสูงวัยจะอยู่อย่างมีความสุข

CHIA จุดเริ่มต้นของเมืองสูงวัยในฝัน

จุดเริ่มต้นของ เมืองสูงวัยในฝัน ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เกิดจากการนำเครื่องมือที่ชื่อว่า CHIA หรือ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ผ่าน 6 ขั้นตอน ดังนี้

  1. กลั่นกรองนโยบาย แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมโดยสาธารณะ
  2. กำหนดขอบเขตการศึกษาโดยสาธารณะ
  3. ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
  4. ทบทวนร่างรายงานผลการศึกษาโดยสาธารณะ
  5. ผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ
  6. ติดตามและประเมินผลโดยสาธารณะ

เพื่อนำมาเป็นข้อมูลหลักในการวางแผนเชิงนโยบายสาธารณะ ด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือ Long term care

กระบวนการเก็บข้อมูล ฉบับ CHIA

โดยการเก็บข้อมูลนั้นจะมีอาสาสมัครคอยทำหน้าที่ ซึ่งจะนำไปถาม ชื่อ-นามสกุล อายุ ผู้สูงอายุอยู่กับใคร ที่บ้านอยู่กันกี่คน ใครเป็นคนดูแล ได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวัน เพื่อช่วยออกแบบกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในชุมชนอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุด โดยจะดำเนินการใน 36 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และนำไปทำตามขั้นตอน ต่อไปนี้

  1. ทบทวนข้อมูลเดิมที่มี
  2. ออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล
  3. วิเคราะห์ข้อมูล
  4. นำเสนอข้อมูลและยกร่างข้อเสนอ
  5. นำข้อมูลและยกร่างข้อเสนอ
  6. นำข้อมูลไปจัดเวทีประชาพิจารณ์ในชุมชน

ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะมีมุมมองหลายมิติมากขึ้น เพื่อไปอุดช่องว่างทำให้นโยบายต่างๆ มีความสมบูรณ์ ตอบโจทย์ คลายปัญหาให้กับชุมชนได้

จากการเก็บข้อมูลนำไปสู่การออกแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านระบบกลไก ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งหมด รวมถึงกระทบกับครอบครัวด้วย เมื่อได้ข้อมูลจาก CHIA แล้ว ก็นำไปเสนอผู้บริหาร เพื่อให้มองถึงภาพรวมว่าหน่วยงานไหนบ้างที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ เทศบาล มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พัฒนาสังคม และ กศน.

ออกแบบการดูแลผู้สูงวัย 3 กลุ่ม

สูงวัย ติดสังคม โดยกลุ่มนี้อยู่บ้านแล้วเกิดความเหงาอยากมีเพื่อนใหม่ และอยากทำกิจกรรมหลายๆ อย่าจึงเกิดการรวมกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จัดตั้งเป็น โรงเรียนผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงวัยได้มาอยู่รวมกลุ่มกัน แล้วมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อไม่ให้พวกเขาป่วย ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุต้องดูแลให้ครบทั้ง 6 อย่าง ได้แก่ นันทนาการ สุขภาพ ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนา และอาชีพ

สูงวัย ติดบ้าน เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือดจึงมีการจัดอบรมการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เป็นการออกกำลังกาย ซึ่งมีผลดีต่อทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะในครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้ ทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำไม่เหงา

สูงวัย ติดเตียง กลุ่มนี้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เคลื่อนไหวได้ กับนอนอย่างเดียวเลย ซึ่งตรงนี้พยาบาลวิชาชีพจะมีบทบาทเข้ามาดูแล เมื่อได้ข้อมูลผู้สูงอายุมาที่เข้าข่ายต้องดูแล Long term care พยาบาลจะประเมินร่วมกันว่า ผู้สูงอายุแต่ละรายผู้ดูแลจะต้องมาดูแลสัปดาห์ละกี่วัน และต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ แล้วก็มีการประสานสหวิชาชีพที่จะต้องจัดหากายอุปกรณ์ หรือเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งจะถูกติดตามเพื่อประเมินซ้ำ และให้การดูแลแบบต่อเนื่อง ให้ผู้สูงวัยติดเตียงป่วยกายแต่สบายใจ

นอกจากการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ยังออกแบบ สายด่วน 1132 เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการเดินทางไปโรงพยาบาลอีกด้วย การมองเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูล รวมทั้งการทำข้อตกลงกับหน่วยงานในท้องถิ่นในการสร้างเมืองสูงวัยในฝันร่วมกัน

ปัจจุบันเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จึงกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการออกแบบเมืองเพื่อรองรับความสุขของผู้สูงวัย เพื่อให้ชุมชนอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสร้าง เมืองสูงวัยในฝัน ให้เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย