มหาสมุทรโลก สถิติร้อน

มหาสมุทรโลก 2019 ทุบสถิติร้อนสุด เท่าระเบิดนิวเคลียร์ 3 พันล้านลูก

บทความการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในสถาบันต่างๆ 11 แห่งทั่วโลก จำนวน 14 คน เปิดเผยว่า “มหาสมุทร” ทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติในปี 2019 และอุณหภูมิยังคงทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วด้วย บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารแอดวานเซส อิน แอตโมสเฟียริก…

Home / NEWS / มหาสมุทรโลก 2019 ทุบสถิติร้อนสุด เท่าระเบิดนิวเคลียร์ 3 พันล้านลูก

ประเด็นน่าสนใจ

  • อุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ประมาณ 0.075 องศาเซลเซียส
  • คณะนักวิจัยมองว่า วิกฤตไฟป่าครั้งล่าสุดในออสเตรเลีย ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
  • เรียกร้องให้มี “ปฏิบัติการระดับโลก” เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

บทความการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในสถาบันต่างๆ 11 แห่งทั่วโลก จำนวน 14 คน เปิดเผยว่า “มหาสมุทร” ทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติในปี 2019 และอุณหภูมิยังคงทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วด้วย

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารแอดวานเซส อิน แอตโมสเฟียริก ไซแอนซ์ (Advances in Atmospheric Sciences) เมื่อวันอังคาร (14 ม.ค.) ระบุว่าอุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกในปี 2019 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ประมาณ 0.075 องศาเซลเซียส

เฉิงลี่จิ้ง นักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ (IAP) แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และผู้เขียนนำของบทความฉบับดังกล่าว ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงน้อยนิดนั้น เกิดขึ้นจากการที่มหาสมุทรทั่วโลกดูดซับความร้อนจำนวนมหาศาล เทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูฮิโรชิมา จำนวน 3.6 พันล้านลูก

“ปรากฏการณ์มหาสมุทรร้อนที่วัดเป็นตัวเลขได้นี้คือ ‘ความจริง’ ที่มิอาจโต้แย้งได้ และบทพิสูจน์ ‘ภาวะโลกร้อน’ อีกครั้งหนึ่งด้วย” เฉิงกล่าว

ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาถูกบันทึกโดยสถาบันฯ ของจีน และองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) โดยวิธีการใหม่ช่วยให้นักวิจัยสามารถตรวจสอบแนวโน้มการปรับเพิ่มของอุณหภูมิ ที่ย้อนหลังไปถึงทศวรรษ 1950

ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิมหาสมุทรทั่วโลกทุบสถิติใหม่เกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2017 และช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา มหาสมุทรทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 450 ส่วนอุณหภูมิช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

“หากคุณอยากทำความเข้าใจภาวะโลกร้อน คุณต้องวัดจากความร้อนของน้ำในมหาสมุทร” จอห์น อับราฮัม (John Abraham) ผู้เขียนร่วมและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซนต์โทมัส (St. Thomas) ในสหรัฐฯ กล่าว พร้อมย้ำว่าการที่น้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก เนื่องจากมหาสมุทรเป็นแหล่งสะสมความร้อนส่วนใหญ่ในโลก

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วและจะสำแดงออกมาอย่างต่อเนื่องในปี 2020 ด้วยรูปแบบสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการสูญเสียสัตว์ทะเลจำนวนมาก

คณะนักวิจัยชี้ว่า ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเมื่อปี 2003 พายุเฮอร์ริเคนใกล้อ่าวเม็กซิโกเมื่อปี 2017 และวิกฤตไฟป่าครั้งล่าสุดในออสเตรเลีย ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน พร้อมเรียกร้องให้มี “ปฏิบัติการระดับโลก” เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

“การปล่อยก๊าซที่กักเก็บความร้อนของมนุษย์คือคำตอบเดียวที่อธิบายต้นสายปลายเหตุของความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้” เฉิงกล่าว

“ยิ่งเราลดก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไร ความร้อนของน้ำในมหาสมุทรก็จะลดน้อยลงเท่านั้น” เฉิงกล่าว พร้อมแนะนำวิธี ‘ใช้น้อย-ใช้ซ้ำ-นำกลับมาใช้ใหม่’ เป็นแนวทางหลักๆ ที่จะมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ดี แม้มนุษย์สามารถดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ แต่มหาสมุทรต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่าชั้นบรรยากาศและผิวดิน

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจะเดินหน้าตรวจสอบว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรอย่างไร นอกเหนือจากเรื่องอุณหภูมิ โดยวางแผนศึกษาอุณหภูมิของน้ำมีผลต่อการพยุงตัวของน้ำ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการกระจายของแร่ธาตุอาหารและความร้อน

ที่มา สำนักข่าวซินหัว