ประเด็นน่าสนใจ
- ปักกิ่งจะปรับปรุงกลไกการสื่อสารระหว่างแพทย์-ผู้ป่วย เพื่อรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
- ก่อนหน้านี้เกิดเหตุการณ์แทงแพทย์เสียชีวิต
ในรายงานการทำงานของรัฐบาลที่นำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีของสภาประชาชนของเทศบาลนครปักกิ่งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ม.ค.) นายกเทศมนตรีกล่าวว่าปักกิ่งจะผลักดันโครงการริเริ่มปักกิ่งสุขภาพดีต่อไป
การรักษาความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์รวมถึงสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลให้เป็นระเบียบ คือหนึ่งในภารกิจริเริ่ม ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบบริการสุขภาพครบวงจร ที่เปลี่ยนจากการรักษาโรคไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนี้
ช่วงปลายปี 2019 คดีที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมแพทย์ที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง สร้างความกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง หมอหยางเหวินที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน ถูกซุนเหวินปินบุตรชายของผู้ป่วยแทงด้วยมีด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากนั้นซุนถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต และเรื่องนี้ได้กลายเป็นกระแสร้อนแรงในกลุ่มที่ปรึกษาทางการเมืองในการประชุมสองสภาที่กรุงปักกิ่ง
หลี่ไห่เฉา ที่ปรึกษาทางการเมืองของปักกิ่งและรองประธานโรงพยาบาลแห่งแรกของมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า ข้อพิพาทระหว่างแพทย์-ผู้ป่วยอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ต้องผิดหวัง หรือแม้กระทั่งลาออกจากงาน ซึ่งจะส่งผลต่อประสบการณ์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน จึงมีผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินการตามโครงการปักกิ่งสุขภาพดี
หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว สมาคมการแพทย์จีนจึงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
หวังเจิ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนกฉุกเฉินจากโรงพยาบาลปักกิ่งซื่อจี้ถัน (Beijing Shijitan Hospital) ใช้เวลา 31 วันของวันหยุดเทศกาลตรุษจีนตลอดช่วงที่ผ่านมาดูแลรักษาผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน
ในฐานะผู้อำนวยการแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉินและที่ปรึกษาทางการเมืองของปักกิ่ง เธอกล่าวว่าความปลอดภัยทางการแพทย์ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเท่านั้น หากยังรวมถึงความปลอดภัยของผู้ที่มาดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย โรงพยาบาลเป็นบ้านของบุคลากรทางการแพทย์ พวกเขาควรจะรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทางอารมณ์ และรับประกันความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงานที่นั่น
เธอตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่รับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แล้วความปลอดภัยของผู้ป่วยมาจากไหน”
สภาพแวดล้อมทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและกลมกลืน จะเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของโครงการปักกิ่งสุขภาพดี และยังสะท้อนภาพลักษณ์ของเมืองด้วย
หม่าลี่ซวง แพทย์ประจำภาควิชากุมารศัลยศาสตร์ภายใต้สถาบันกุมารเวชศาสตร์กล่าวว่า “ฉันคิดว่าแพทย์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ใจดีที่สุด เพราะพวกเขาดูแลผู้ป่วยและพยายามรักษาพวกเขาอย่างเต็มที่ตั้งแต่เนิ่นๆ”
กฎหมายของจีนว่าด้วยการส่งเสริมการแพทย์และการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน กำหนดว่าศูนย์รักษาพยาบาลเป็นสถานที่สาธารณะและไม่มีองค์กรหรือบุคคลใดที่จะก่อความไม่สงบในสถานที่เหล่านี้ได้
ก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งจะต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของตนเป็นอันหน่วยงานแรก แต่หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ องค์กรด้านการรักษาความปลอดภัยสาธารณะจะเข้ามามีบทบาทได้เร็วขึ้น หลี่ไห่เฉากล่าว
กฎหมายดังกล่าวเรียกร้องให้สังคมให้ความเคารพต่อบุคลากรการแพทย์ รักษาระเบียบของสภาพแวดล้อมทางการแพทย์ รักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์-ผู้ป่วยให้ปรองดองมากขึ้น
หลี่ชี้ว่า มีความจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกการสื่อสารระหว่างแพทย์-ผู้ป่วยก็จริง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการนำระบบแทรกแซงทางกระบวนการยุติธรรมเข้าสู่โรงพยาบาล ทั้งยังกล่าวว่าโรงพยาบาลควรกำหนดกลไกการกำกับดูแลและชี้แจงหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาล แพทย์ และองค์กรรักษาความปลอดภัยสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อรักษาความปลอดภัยของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญให้ดีขึ้น
หลี่เสริมว่าในอนาคต ควรมีสถานีตำรวจในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อป้องกันอันตรายและรักษาความสงบเรียบร้อย